ขอขอบคุณ ผู้สนับสนุนข้อมูลและภาพ
-:ศูนย์ประสานงาน รร.นส.ทบ.
..............................................................................................................................................................................................................................................................
ที่นี่ ! เราฝึกคนให้เป็นผู้นำ...
|
ความเป็นมา นายสิบเหล่าทหารช่างสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ การจัดหน่วยทหารช่างใหญ่ที่สุดเป็นเพียงหน่วยขนาดกรมการบรรจุบุคคลเป็นนายสิบทหารช่าง ใช้วิธีคัดเลือกจากพลทหารที่มีความรู้ ความสามารถดี เข้ารับการศึกษาในกรมทหารช่างเป็นเวลา ๖ เดือน เมื่อจบหลักสูตรแล้วจะได้รับการแต่งตั้งยศเป็น ส.ต.
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๖ กองทัพบกได้จัดตั้ง กองนักเรียนนายสิบพลรบ มีที่ตั้งอยู่ที่สะพานแดง บางซื่อ กรุงเทพฯ ( กรมการทหารสื่อสารในปัจจุบัน ) มี พ.ท.หลวงเสรี เริงฤทธิ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการศึกษานักเรียนนายสิบขึ้น ในปีนี้มีแต่นักเรียนนายสิบเฉพาะรบเท่านั้น ได้แก่เหล่า ราบ ม้า และปืนใหญ่
เริ่มนักเรียนนายสิบเหล่าช่าง พ.ศ.๒๔๗๘ กองทัพบกรับสมัครนักเรียนนายสิบเป็นรุ่นที่ ๒ เข้าศึกษาในกองนักเรียนนายสิบเหล่าพลรบ หลักสูตร ๓ ปี แต่ปีนี้กองทัพบกจัดให้มีการศึกษาเหล่าทหารช่างและสื่อสารด้วย จึงถือได้ว่าเป็นนักเรียนนายสิบทหารช่างรุ่นแรก สำหรับผู้ศึกษาเหล่าทหารช่างมีจำนวน ๖ นาย ดังนี้.-
๑.นนส.บุญส่ง รุ่งจรูญ
๒.นนส.บุญจันทร์ บุญญพันธ์
๓.นนส.สุรัติ หอมมะลิ
๔.นนส.สำรวล กุศลวุฒิ
๕.นนส.บุญธรรม นิลวรรณ
๖.นนส.ประภัศร์ ติณณารมย์
หลักสูตรการศึกษา ๓ ปี มีการศึกษาดังนี้.-
ปีที่ ๑ นักเรียนจะศึกษาร่วมกันทุกเหล่าเป็นเวลา ๖ เดือน ครบกำหนดแล้วจะมีการสอบ เพื่อแยกเหล่าผู้ที่ได้คะแนนดีจะมีสิทธิ์เลือกเหล่าตามที่ต้องการส่วนอีก ๖ เดือนต่อมาจะฝึกวิชาเหล่าเป็นวิชาหลัก สำหรับวิชาทหารช่างมี พ.ต.หลวงวุฒิรณฤทธิ์ และ พ.ต.ขุนใจ จงรบ เป็นอาจารย์สอนในชั้นปีที่ ๑ นี้นักเรียนนายสิบจะได้รับเงินเดือนชั้น ๑ ( ๒ บาท )
ปีที่ ๒ ผู้ที่สอบไล่ได้ชั้นปี ๑ จะได้รับยศ ส.ต. รับเงินเดือน ชั้น ๘ ( ๑๖ บาท ) และจะถูกส่งไปฝึกราชการยังกองพันทหารช่าง ซึ่งขณะนั้นมีเพียง ๒ หน่วย ได้แก่ ช.พัน.๑ ( ราชบุรี ) และ ช.พัน.๒ ( ฉะเชิงเทรา ) แม้จะได้รับการแต่งตั้งยศแต่ก็มิได้มีสภาพเป็นนายสิบประจำการแต่อย่างใดเพราะต้องอยู่ในความควบคุมโดยครูปกครองหากประพฤติปฏิบัติไม่ดีจะมีผลไปยังกองนักเรียนนายสิบ ในการศึกษาชั้นปีที่ ๓
ปีที่ ๓ ทั้งหมดจะถูกส่งกลับเข้าศึกษาในกองนักเรียนนายสิบตามเดิม เพื่อเรียนต่อจากปีที่ ๑ เป็นการเรียนและการฝึกในหน้าที่ ผบ.หมู่ ผู้สอบไล่ได้ชั้นปีที่ ๒ จะได้รับยศ ส.ท. เงินเดือน ชั้น ๑๑ ( ๒๒ บาท )
พ.ศ.๒๔๗๙ และพ.ศ.๒๔๘๑ คงมีการรับสมัครนักเรียนนายสิบพลรบเป็นรุ่นที่ ๓-๔ ( ทหารช่างรุ่นที่ ๒-๓ )หลักสูตรการศึกษาเช่นเดียวกับปี พ.ศ.๒๔๗๘ มีทหารช่างรุ่นละ ๑๐ นาย และ ๕ นาย ตามลำดับ
นักเรียนนายสิบทหารช่างรุ่นที่ ๑
พ.ศ.๒๔๘๓ กองทัพบกได้ตั้ง กองโรงเรียนนายสิบทหารช่าง ขึ้นที่ จว.ราชบุรี ขึ้นตรงต่อแผนก ๔ กรมจเรทหารบก แยกจากกองนักเรียนนายสิบเหล่าพลรบ โดยใช้ผู้บังคับบัญชาจาก ช.พัน.๑ (ราชบุรี ) เป็นผู้ฝึกสอนและปกครองเริ่มทำการฝึกอบรมนักเรียนนายสิบพลรบ รุ่นปี ๒๔๘๑ เหล่าทหารช่าง เข้าศึกษาในชั้นปีที่ ๓ เป็นรุ่นแรก ทำเนียบนักเรียนนายสิบเหล่าทหารช่างจึงเริ่มต้นตั้งแต่รุ่นนี้ เป็น นนส.ช. รุ่นที่ ๑
พ.ศ.๒๔๘๔ กองทัพบกมีคำสั่งให้กองโรงเรียนนายสิบทหารช่าง ขึ้นตรงต่อแผนกทหารช่าง กรมเสนาธิการทหารบก รับสมัครผู้ที่มีคุณวุฒิความรู้ไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ ๔ อายุ ๑๗ - ๒๔ ปี เข้าเป็นนักเรียนนายสิบศึกษาหลักสูตร ๒ ปี มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๐๔ นาย นักเรียนนายสิบเหล่าทหารช่างรุ่นนี้ ในรุ่นถือว่าเป็นนักเรียนนายสิบทหารช่างรุ่นแรกของกองโรงเรียนนายสิบทหารช่าง เนื่องจากเรียนเฉพาะเหล่าโดยตรง ( ตามทำเนียบ นนส.ช. เป็นรุ่นที่ ๒ )ในปลายปีนี้ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพานักเรียนนายสิบรุ่นนี้จึงถูกระงับการเรียน และถูกส่งออกปฏิบัติราชการตามหน่วยต่าง ๆ ได้แก่ ช.พัน.๑ , ช.พัน.๒ และ ช.พัน.๓ (หน่วยตั้งใหม่ขณะนั้น )
พ.ศ.๒๔๘๕ - ๒๔๘๗ ไม่มีการผลิตนักเรียนนายสิบทหารช่าง เพราะผู้บังคับบัญชาตลอดจนครู อาจารย์ต้องออกปฏิบัติราชการสงครามด้วย
พ.ศ.๒๔๘๘ เกิดความขาดแคลนนายสิบไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติราชการ ในปีนี้กองทัพบกจึงได้เปิดรับบุคคลเข้าเป็นนักเรียนนายสิบ หลักสูตรเร่งรัด มีกำหนด ๖ เดือน จำนวน ๒ รุ่น ดังนี้
ผลัด ๑ เปิดการศึกษา ๑ ม.ค. ๒๔๘ ๘ จำนวน ๕๐ นาย
ผลัด ๒ เปิดการศึกษา ก.ค. ๒๔๘๘ จำนวน ๙๔ นาย
แต่เนื่องจากอยู่ในภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพา (จากการที่ญี่ปุนยกพลขึ้นบุกประเทศไทย ทำให้ไทยต้องจำยอมร่วมรบกับทหารญี่ปุ่น ทำสงครามกับฝ่ายพันธมิตรจึงได้นำระเบิดมาทิ้งในเขตตัวเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งกองทหาร คลังยุทโธปกรณ์ ตลอดจนตัดเส้นทางการเคลื่อนกองทัพของทหารญี่ปุ่น) นักเรียนนายสิบผลัด ๑ ต้องย้ายไปศึกษาที่วัดท่าโขลง, วัดโพธิ์ และสุดท้ายไปจบหลักสูตรที่วัดเกตุการาม อ.บางคนที จว.สมุทรสงคราม สำหรับผลัด ๒ ก็ต้องเข้าศึกษาต่อ ณ กองโรงเรียนนายสิบ วัดเกตุการาม แห่งนี้เช่นกันจนเมื่อพฤศจิกายน ๒๔๘๘ สงครามเสร็จสิ้นจึงได้กลับเข้าศึกษาในที่ตั้งปกติ
พ.ศ.๒๔๘๙ กองทัพบกมีคำสั่งแปรสภาพแผนกทหารช่างเป็นกรมจเรทหารช่าง โดยกองโรงเรียนนายสิบทหารช่าง ขึ้นตรงต่อแผนกการศึกษา กรมจเรทหารช่าง มีการรับสมัครนักเรียนนายสิบทหารช่าง หลักสูตร ๓ ปีสำเร็จแล้วได้รับยศ ส.ท. และใบประกาศนียบัตรมีคุณวุฒิเทียบเท่าช่างจัตวากรมโยธาเทศบาล ( มีผู้สำเร็จรุ่นนี้จำนวน ๓๐ นาย )
พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๔๙๒ ไม่มีการรับนักเรียนนายสิบทหารช่าง
พ.ศ. ๒๔๙๓ มีการเปลี่ยนแปลงการจัดจากแผนกศึกษา เป็นแผนกที่ ๓ กองโรงเรียนนายสิบทหารช่าง จึงเป็นหน่วยขึ้นตรงแผนกที่ ๓ ปีนี้เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักเรียนนายสิบหลักสูตร ๒ ปี จำนวน ๕๖ นาย และปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เปิดรับจำนวน ๓๘ นาย
พ.ศ. ๒๔๙๕ มีคำสั่งแปรสภาพกรมจเรทหารช่างเป็นกรมการทหารช่างแผนกที่ ๓ แปรสภาพเป็นกองฝึกและศึกษา กองโรงเรียนนายสิบทหารช่างจึงขึ้นตรงต่อกองฝึก และศึกษากรมการทหารช่าง ปีนี้รับนักเรียนนายสิบจำนวน ๑๒๐ นาย และในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เปิดรับจำนวน ๑๕๖ นาย
พ.ศ. ๒๔๙๗ เปลี่ยนแปลงอัตราการจัดกรมการทหารช่างใหม่ กองฝึกและศึกษาแปรสภาพเป็นโรงเรียนทหารช่าง เจ้ากรมการทหารช่างทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาโรงเรียนทหารช่างกองโรงเรียนนายสิบทหารช่างแปรสภาพเป็นกองนักเรียน ปีนี้รับนักเรียนนายสิบทหารช่างรวม ๒ รุ่น และปี พ.ศ.๒๔๙๘ รับอีกจำนวน ๒ รุ่น เช่นเดียวกัน
พ.ศ.๒๔๙๙ - ๒๕๐๐ เปิดรับนักเรียนนายสิบทหารช่างปีละ ๑ รุ่น
พ.ศ.๒๕๐๑ เปลี่ยนแปลงการจัดกรมการทหารช่างใหม่ โดยเพิ่มส่วนราชการคือศูนย์การทหารช่าง กองนักเรียนแปรสภาพเป็นกรมนักเรียน
พ.ศ.๒๕๐๑ - ๒๕๑๐ รับนักเรียนนายสิบทหารช่าง เข้าศึกษาปีละ ๑ รุ่น ยกเว้นปี พ.ศ.๒๕๐๕ ไม่มีการรับ
พ.ศ.๒๕๑๑ เปลี่ยนแปลงการจัดกรมการทหารช่างให้ยกเลิกส่วนราชการศูนย์การทหารช่าง โรงเรียนทหารช่าง จึงเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมการทหารช่างเจ้ากรมการทหารช่างเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารช่างโดยตำแหน่ง กรมนักเรียนแปรสภาพเป็นกองพันนักเรียนเป็นต้นมา ในปีนี้กองทัพบกเปิดรับนักเรียนนายสิบทหารช่างปกติและเร่งรัดเพิ่มเติมสงครามเวียดนาม (พวต.รุ่น ๑ ) นับเป็น นนส.ช.รุ่นที่ ๒๕ และในปี พ.ศ.๒๕๑๒ รับอีก ๒ รุ่น ( พวต.๒ - ๓ ) ศึกษาหลักสูตร ๑ ปี
ในปีนี้ กองทัพบกได้เปิดหลักสูตรนักเรียนนายสิบกองทัพบก หลักสูตร ๒ ปี (นนส.ทบ.)โดยรับจากบุคคล พลเรือนและทหารกองประจำการที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ( ม.ศ.๓ ) เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายสิบทหารบกค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี จว.ประจวบคีรีขันธ์ ในชั้นปีที่ ๑ และแยกศึกษาในโรงเรียนเหล่าวิทยาการต่างๆ รวม ๑๒ เหล่า ในชั้นปีที่ ๒ สำหรับเหล่าทหารช่าง นนส.ทบ.รุ่น ๑ จะเป็น นนส.ช. รุ่น ๒๗
พ.ศ.๒๕๒๓ มีการเปิดรับนักเรียนนายสิบหลักสูตร ๑ ปี (เร่งรัด) โดยรับจากทหารกองประจำการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้ารับการศึกษา ( นนส.ช.รุ่น ๓๙ หรือ เร่งรัดรุ่น ๑ ) โดยเปิดรับติดต่อกัน จนถึงปี ๒๕๒๗ รวมทั้งหมด ๕ รุ่น
พ.ศ.๒๕๒๕ มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรนักเรียนนายสิบกองทัพบก หลักสูตร ๒ ปี เป็นหลักสูตร ๑ ปี เปิดทำการศึกษาที่โรงเรียนเหล่าสายวิทยาการของเหล่า โดยรับจากผู้สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ( นนส.ช.รุ่น ๔๖ หรือ ม.ปลาย รุ่น ๑ )
พ.ศ.๒๕๔๐ นโยบายด้านการศึกษาของกองทัพบก ให้มีการปรับปรุงการศึกษาในโรงเรียนทหารทุกระดับ ให้สอดรับกับความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและสมรรถภาพกำลังพลโดยเฉพาะนายทหารชั้นประทวนเป็นเป้าหมายหลัก จึงมีการปรับปรุงหลักสูตรนักเรียนนายสิบจากหลักสูตร ๑ ปี เป็นหลักสูตร ๒ ปี ดังนี้.-
ชั้นปีที่ ๑ ศึกษารวมกันที่โรงเรียนนายสิบทหารบก ค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี จว.ประจวบคีรีขันธ์
ชั้นปีที่ ๒ เป็นการศึกษาในโรงเรียนเหล่าสายวิทยาการสำเร็จแล้วได้รับวุฒิทางวิชาชีพระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง ( ปวส. ) นักเรียนนายสิบเหล่าทหารช่างจะได้รับวุฒิประเภทช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาช่างโยธา
การผลิตนักเรียนนายสิบหลักสูตร ๒ ปี ( ปวส. ) กองทัพบกผลิตต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ.๒๕๔๕ รวม ๕ รุ่น ( นนส.ช.รุ่น ๖๒ - ๖๖ )
พ.ศ.๒๕๔๕ มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบการศึกษาหลักสูตรนักเรียนนายสิบทหารบกจากเดิมศึกษา ๒ ปี เป็นศึกษา ๑ ปี รับผู้ที่สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า โดยทำการศึกษาที่โรงเรียนนายสิบทหารบก ค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี จว.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา ๑๐ เดือนและศึกษาวิชาเหล่าที่โรงเรียนเหล่าสายวิทยาการเป็นเวลา ๒ เดือน หลังจากนั้นจะกลับไปประดับยศและสำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายสิบทหารบก และได้รับการบรรจุประจำเหล่าสายวิทยาการ ในการนี้จะต้องเข้ารับการศึกษาหลักสูตรนายสิบชั้นต้นของเหล่าระยะเวลาประมาณ ๙ สัปดาห์ ก่อนบรรจุรับราชการในหน่วยต่างๆ
พ.ศ.๒๕๕๐
ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานักเรียนสิบทหารบก ศึกษา ณ โรงเรียนนายสิบทหารบก จำนวน ๖ เดือน และศึกษา ณ รร.เหล่าสายวิทยาการ จำนวน ๖ เดือน โดยแบ่งนักเรียนนายสิบ
เข้ารับการศึกษา จำนวน ๒ ผลัด
รายละเอียดทำเนียบรุ่น นนส. เหล่า ช.
..............................................................................................................................................................................................................................................................
-:เว็บไซต์ รร.นส.ทบ. และ กรมการทหารช่าง
-:จ.ส.อ.พิสุทธิ์ อุณหะ ที่ให้คำปรึกษา
ที่นี่ ! เราฝึกคนให้เป็นผู้นำ ....