
มุมมองทางประวัติศาสตร์ โดย :: พ.อ.เกรียงไกร แข็งแรง
3.พระบิดาแห่งเหล่าทหารช่างและนามค่ายภาณุรังษี
พระบิดาแห่งเหล่าทหารช่างนั้นคือ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ในขณะที่ที่ตั้งของกรมการทหารช่างได้รับการขนานนามค่ายว่า ค่ายภาณุรังษี มาตั้งแต่ พ.ศ.2504 ตามพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ จึงควรทำความเข้าใจในพระประวัติและความเกี่ยวพันกับเหล่าทหารช่าง ที่ตั้งของกรมการทหารช่าง และจังหวัดราชบุรี

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชร อัครโยธิน พระบิดาแห่งเหล่าทหารช่างไทย
ภาพนี้ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายของอังกฤษ ระบุว่าถ่ายเมื่อ 29 พ.ค. 2463 โดย Bassano (ไม่แน่ใจว่าเป็นบุคคลหรือร้าน)
ที่มา : http://www.npg.org.uk/collections/search/person.php?LinkID=mp60849
พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระนามเดิม พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ประสูติ ณ วันจันทร์ที่ 23 ม.ค.2424 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 35 ใน ร.5 กับเจ้าจอมมารดาวาด ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแฮโรว์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สาขาวิศวกรรมโยธา และด้านทหารช่างจากโรงเรียนทหารช่าง แห่งชัทแทม * จากนั้นทรงเริ่มรับราชการเป็นนายร้อยตรี กองทหารอินยิเนีย โดยเป็นนายร้อยตรีนอกกองประจำการ กองร้อยปี 2 กรมบัญชาการทหารบกมณฑลกรุงเทพ ใน 6 พ.ย.2444 ต่อเมื่อเสด็จกลับประเทศไทยในปี2447 ทรงได้รับยศเป็นพันตรี แห่งกรมยุทธนาธิการทหารบก มีหน้าที่อบรมนายทหารช่าง
ในปี 2448 ทรงเป็นอาจารย์สอนทหารช่างให้กับนักเรียนนายร้อยทหารบก ในปีนี้ทรงแต่งตำราวิชาทหารช่างขึ้นเกี่ยวกับสะพานและวิธีใช้ไม้ ส่วนเล่มที่สองจัดทำขึ้นในปี 2449 และในปีเดียวกันนี้เมื่อ 21 ก.ย. พันเอกพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรทรงดำรงตำแหน่ง จเรทหารช่าง (เอกสารบางชิ้นระบุว่าเป็นปี พ.ศ.2451) ครั้นปลายปีทรงเป็นกรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน พ.ศ.2451 ทรงได้รับยศเป็นพลตรี เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 (รักษาพระองค์) (น่าจะยังคงรั้งตำแหน่งจเรทหารช่างด้วย : ผู้เขียน) และทรงเป็นราชองครักษ์พิเศษ
พ.ศ.2452 พล.ต.กรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงปรับปรุงตำราทหารช่างเล่ม 2 ว่าด้วยวิธีขุดบ่อระเบิด และวิธีใช้ดินระเบิด
พ.ศ.2453 มีการจัดตั้งแผนกจเรทหารช่างขึ้นในกระทรวงกลาโหม อีกทั้งมีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดการช่างทหาร ขึ้นตรงต่อแผนกจเรทหารช่าง
พ.ศ.2459 ทรงรักษาการเจ้ากรมรถไฟสายเหนือ ทรงนำทหารช่างและอำนวยการขุดเจาะถ้ำขุนตานวางรางจนถึงเชียงใหม่
พ.ศ.2460 เมื่อมีการรวมกรมรถไฟหลวงสายเหนือเข้ากับกรมรถไฟสายใต้ เป็น กรมรถไฟหลวง พระองค์ทรงได้รับมอบหมายเป็นผู้บัญชาการ ครั้งถึง 18 ก.ย. มีการจัดตั้งกรมจเรการช่างทหารบก มีหน้าที่เกี่ยวกับทหารช่างและเครื่องมือทหารช่าง โดยมีจเรการช่างทหารบก เป็นผู้บังคับบัญชาสิทธิ์ขาด ขึ้นตรงต่อเสนาบดี กระทรวงกลาโหม พล.ท.กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงดำรงตำแหน่งนี้ ครั้นปลายปีเกิดน้ำท่วมใหญ่ทางรถไฟสายเหนือและสายนครราชสีมา รถไฟเดินไม่ได้ 4 5 วัน ทางขาด กระทรวงกลาโหมได้ส่งทหารช่าง 3 กรม เข้าซ่อมแซม โดยมี พลโทกรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธินเสด็จตรวจงานด้วยพระองค์ทั้งวันทั้งคืนจนสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในปีนี้ยังทรงพัฒนาเครื่องวิทยุโทรเลขและโทรศัพท์ แบบ จช.1 (จเรทหารช่าง 1) พระองค์ยังทรงรับผิดชอบ บังคับบัญชาและปรับปรุงกิจการโรงไฟฟ้าหลวง กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม กรมไปรษณีย์โทรเลข กิจการวิทยุและวิทยุกระจายเสียง
พระองค์ทรงเป็นเจ้านายนักปฏิรูปกิจการทางทหารช่าง การบิน การรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลข และกิจการอื่น ๆ อีกมากมาย ทรงเป็นต้นราชสกุล ฉัตรไชย และทรงเป็นพระบิดาแห่งเหล่าทหารช่างที่พวกเราทุกคนมีความภาคภูมิใจ และยึดถือเอาเป็นแบบอย่างตลอดมา จนกระทั่งในปี 2527 เมื่อ 27 ธ.ค. จึงมีพิธีวางศิลาฤกษ์พระอนุสาวรีย์ของพระองค์ และมีพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ในวันที่ 20 ส.ค.2533 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในพระกรุณาธิคุณของพระองค์

ความเกี่ยวพันกับการรถไฟอย่างแท้จริงของทหารช่าง น่าจะเกิดขึ้นเมื่อกรมพระกำแพงเพชรทรงรักษาการเจ้ากรมรถไฟสายเหนือ ทรงนำและอำนวยการทหารช่างขุดเจาะและวางรางรถไฟถ้ำขุนตาน ครั้นพ.ศ. 2460 ทรงนำทหารช่างซ่อมแซมทางรถไฟสายเหนือและนครราชสีมาที่เสียหายจากน้ำท่วม

ตราราชสกุล ฉัตรชัย และตราประจำพระองค์กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki และ หนังสือบุรฉัตรรำลึก(การรถไฟแห่งประเทศไทย ,2526 )
สำหรับนามแห่งค่ายภาณุรังษี ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมการทหารช่าง นั้น มีความเป็นมาที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมุดราชบุรีซึ่งจัดพิมพ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6 (พ.ศ.2468) ระบุว่า ในปี พ.ศ.2360 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร.2 โปรดเกล้าให้ย้ายเมืองราชบุรี จากฝั่งขวาแม่น้ำแม่กลอง ไปอยู่ฝั่งซ้าย แล้วสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบป้องกันมิให้ข้าศึกเข้าถึงได้ง่าย ครั้นถึงสมัย ร.5 ในคราวจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล พ.ศ.2440 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองกลับไปอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ เมื่อมีการจัดตั้งกองทหารบกตามมณฑลต่าง ๆ จึงได้ย้ายกรมบัญชาการทหารบก มณฑลราชบุรี เข้ามาอยู่ที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ในเอกสารของภารดีระบุว่า ห้วงเวลาดังกล่าวนี้ (พ.ศ.2444 : ผู้เขียน) ยังคงประสบปัญหาการบังคับบัญชาลำบาก เพราะยังมีทหารประจำการอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วย กล่าวคือ กรมทหารราบที่ 4 ซึ่งเป็นกำลังหลักยังอยู่ที่สวนดุสิต ทำให้การบังคับบัญชาก้าวก่ายกัน รวมถึงไม่ใคร่ปรองดองกับฝ่ายพลเรือน
ในปี พ.ศ.2445 กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทรงเสนอโครงสร้างกองทัพบกสยาม ครั้งใหม่ ซึ่งกรมบัญชาการทหารมณฑลราชบุรีประกอบไปด้วย กรมทหารราบที่ 4 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 กรมทหารม้าที่ 2 และกองโรงเรียนนายสิบ โดยมี พ.อ.เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช (เจ้าฟ้าภาณุรังษี) เป็นผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 4 และหน่วยนี้ได้ย้ายเข้าที่ตั้งบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำในปี พ.ศ.2446 ต่อมาภายหลังการประกาศใช้ พรบ. ลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124 ในมณฑลราชบุรีแล้ว จึงเกิดหน่วยทหารที่ตั้งขึ้นใหม่ ได้แก่ กองพยาบาล กองพันพิเศษ กองพาหนะ กองทหารช่าง และกองทหารพราน ครั้นถึงปี พ.ศ.2452 มีการจัดรูปแบบกองทัพบกใหม่และขนานนาม กรมบัญชาการทหารมณฑลราชบุรี เป็นกองพลที่ 4 โดยที่หน่วยทหารช่าง (กองทหารช่าง) ขนานนามใหม่เป็น กองทหารช่างที่ 4 อนึ่ง เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารราบที่ 4 พระยศพันเอก ท่านมีความผูกพันกับกรมทหารราบที่ 4 มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กล่าวคือเมื่อยังดำรงพระอิศริยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงเป็นนายทหารพิเศษของกรมในปี พ.ศ.2421 หากผู้อ่านเดินทางผ่านช่องทางกำแพงเมืองเก่าด้านทิศใต้ ช่องทางระหว่างกองบัญชาการกรมการทหารช่าง และ ช.21 บริเวณอาคารของแผนกสนามฝึกและสนามยิงปืน กองบริการ กรมการทหารช่าง ติดกับกำแพงเมือง บริเวณชั้น 2 ของอาคารจะสังเกตเห็นตราสัญลักษณ์ของกองพลทหารบกที่ 4 พร้อมปี พ.ศ.2460 กำกับไว้ ซึ่งในปีนั้น พลตรีพระยา พิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ กรุงเทพ) เป็นผู้บัญชาการ ในปี พ.ศ.24 58 สมัยรัชกาลที่ 6 มีการประลองยุทธขนาดใหญ่ของกองทัพบกสยามขึ้นในพื้นที่อยุธยา กรมทหารบกราบที่ 4 เข้าร่วม ในครั้งนั้นด้วย ปรากฏนามค่ายทหารว่า ค่ายหลุมดิน และโดยที่ จอมพลสมเด็จพระปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ทรงมีคุณูปการต่อหน่วยทหารในกรมทหารบกราบที่ 4 มาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2504 เจ้ากรมการทหารช่าง(พ.อ.กาจบัณฑิต โชติกญาณ ) ดำริให้ พ.อ.ดำเนิน เลขะกุล ค้นคว้าประวัติของค่าย กช. เพื่อหาชื่อที่เหมาะสมประกาศตั้งเป็นมงคลนามของค่าย จนได้ข้อยุติเป็น ค่ายภาณุรังษี เมื่อ 17 มี.ค.2504 และต่อมามีแจ้งความของกองทัพบกเรื่อง พระราชทานชื่อค่ายทหาร ลง 28 เม.ย. 2507 โดยมีพิธีเปิดป้ายค่ายภาณุรังษี เมื่อ 22 มิ.ย. 2509

ตราสัญลักษณ์ของกองบัญชาการกองพลทหารบกที่ 4 ซึ่งมีกรมทหารบกราบที่ 4 (กรมทหารหน้า)เป็นหน่วยหลัก ปรากฏอยู่บนอาคารแผนกสนามฝึกและสนามยิงปืน กองบริการ กรมการทหารช่าง บริเวณกำแพงเมืองเก่าด้านทิศใต้ฝั่งกองบัญชาการ หน่วยทหารหน่วยนี้ย้ายเข้าสู่พื้นที่ค่ายภาณุรังษีตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2446 โดยยังไม่ปรากฏนามค่ายในเบื้องต้น เป็นแต่ผู้คนทั่วไปเรียกขานว่า ค่ายหลุมดิน ต่อมาหน่วยนี้แปรสภาพเป็น กรมทหารราบที่ 21 (ต้นกำเนิด ร. 21 รอ.ในปัจจุบัน)
การประลองยุทธใหญ่ของทัพบกสยาม พ.ศ. 2458 สมัย ร. 6 พื้นที่อยุธยาในภาพคือการสร้างสะพานเครื่องหนุนลอยโดยทหารช่าง
ธงประจำกองลูกเสือมณฑลราชบุรี(สมัย ร. 6 ) พื้นธงสีน้ำเงินแก่ กลางธงมีรูปรองพระบาทวางบนพานทอง เพื่อให้ลูกเสือทุกคนระลึกว่า มณฑลนี้เป็นมณฑลสำคัญทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ธงนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 เนื่องในการเสด็จทอดพระเนตรการประลองยุทธเสือป่าและลูกเสือที่ราชบุรี ต่อมาถือเอาเป็นต้นกำเนิดตราประจำจังหวัดราชบุรีดังภาพขวาอีกด้วย
พระประวัติโดยย่อของ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ทรงเป็นพระราชโอรสใน ร.4 และ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชนนี ประสูติเมื่อ 11 ม.ค.2402 ทรงเป็นพระราชอนุชาร่วมพระครรโภทรใน ร.5 ทรงเป็นจอมพลที่ทหารรักมาก มักออกพระนามว่า สมเด็จวังบูรพา ทรงเป็นจอมพลในรัชกาลที่ 7 พวกทหารมักจะแบกพระองค์ท่านขึ้นบนบ่าแห่แหนในวาระที่มีการฉลองต่างๆ ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดกิจการไปรษณีย์ไทย เสด็จทิวงคต พ.ศ.2471 ทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นกำลังหลักของ ร.5 ในการปฏิรูปโครงสร้างกองทัพบกสยาม ในปี พ.ศ.2435 2444
อนึ่ง กรมทหารราบที่ 4 นี้ เป็นกรมทหารที่เก่าแก่ตั้งมาคราวกรุงศรีอยุธยา บ้างก็เรียกว่า กรมทหารน่า (หน้า) หรือ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง หน่วยทหารหน่วยนี้คือกองทหารหลักที่ตั้งอยู่ ณ ค่ายภาณุรังษี (ปัจจุบัน) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2446 ผู้สนใจโปรดอ่าน ตำนานกรมทหารบกราบที่ 4 ประชุมพงศาวดารภาค 23

จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระผู้พระนามเป็นที่มาแห่งค่ายภาณุรังษี
สำหรับเรื่องที่เคยเป็นข้อถกเถียงบางประการ เช่น ในการเขียนนามของพระองค์ท่านทั้งสองเป็นอักษรโรมัน(ภาษาอังกฤษ) เท่าที่ค้นคว้าได้จากเอกสารเก่าพบว่า คำว่า ภาณุรังษี สะกดเป็น BHANURANGSI ส่วน บุรฉัตร สะกดเป็น PURACHATRA ขณะที่คำว่า ฉัตรไชย สะกดเป็น CHATRAJAYA ส่วนการถกเถียงเรื่องการเขียนพระนามของ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน กับ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน นั้นกองพลทหารช่างเคยมีหนังสือสอบถามไปยังทายาท ก็ได้รับคำตอบว่าให้ใช้ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งรวมถึงคำว่า PURACHATRA และการนิยมใช้ ฉัตรชัย แทนคำว่า ฉัตรไชย ทั้งนี้ผู้เขียนหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวอ้างกฎเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน เนื่องจาก กฎเกณฑ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังทั้งสองพระองค์ หลักฐานยืนยันพระนามในอักษรโรมัน(ภาษาอังกฤษ)ปรากฏบนแสตมป์จากซ้าย PURACHATRA และขวาเป็นแสตมป์ ชุด 150 Year Commemoration of Prince Bhanurangsi Commemorativestamps

.......................................................................
หน้าต่อไป...
ที่มาเอกสารอ้างอิง :: *