
มุมมองทางประวัติศาสตร์ โดย :: พ.อ.เกรียงไกร แข็งแรง
4. สีและเครื่องหมายเหล่า : จากหมายบ่าด้วยสีดำจนถึงพลั่ว สมอ และขวาน

ทหารล้อมวังต้นกำเนิดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ในปัจจุบัน
ที่มา :http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=klongrongmoo&month= 032009 &date= 29 &group= 4 &gblog= 25
ี การปฏิรูปกิจการของทหารนับแต่ ร.5 ทรงเริ่มครองราชย์ในปี พ.ศ.2411 เป็นต้นมานั้น เบื้องต้นปรากฏเหล่าทหารในระยะแรกๆ คือ ทหารราบ (ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ , ทหารรักษาพระองค์) ทหารม้า , ทหารปืนใหญ่และทหารช่าง ยังไม่ปรากฏการแบ่งแยกด้วยเครื่องหมายเหล่าอย่างชัดเจน ดูเหมือนว่าการแต่งกายที่พอจะแยกแยะเหล่าได้คือ เครื่องแบบทหารรักษาพระองค์ พระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวทหารบก ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) * ออกในสมัย ร.5 มาตรา 4 ข้อ 2 ระบุการแต่งกายซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการแบ่งเหล่าว่า
.....ข้อ 2 เสื้อผ้าสีเทารูปกระสอบคอพับ
พลรบ มีบ่าเป็นแผ่นผ้า ....หุ้มผ้าสีตามสังกัด สำหรับติดตามตรงบ่า คือแต่ต้นคอไปไหล่
ผู้ช่วยพลรบ มีบ่าเป็นแผ่นผ้า....หุ้มผ้าสีตามสังกัดสำหรับติดตามขวางบ่าคือแต่หน้าไหล่ไปหลังไหล่
ในหมวดที่ 3 ว่าด้วยเครื่องหมายทหาร มาตรา 10 ระบุว่า ........... ทหารต่างเหล่าต่างแพนกต้องมีสีเป็นเครื่องหมายให้เห็นแปลกกันที่บ่ายศ เสื้อนายทหารชั้นสัญญาบัตรทั้งปวงที่เป็นรูปทูนิกสีเทาให้หมายสีที่คอเสื้อ ที่ขลิบลวดตรงริมหน้าอก ขั้นข้อมือ ปากกระเป๋า แถบกางเกง ทหารเหล่าใดแพนกใดควรจะหมายสีใด ก็ให้ผู้บังคับบัญชากรมยุทธนาธิการกำหนดให้ใช้สีเครื่องหมายนั้นตามที่เห็นสมควร...

ทหารช่างเยอรมันในการปฏิบัติการรบ ในแนวรบด้านตะวันออก (รัสเซีย) ห้วงปี ค.ศ. 1943 - 1944 เสื้อตัดเย็บด้วยผ้าทูนิคสีเทา
ตามแบบปี 1935 ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวาง คอปกเสื้อสีดำ อินธนูสีดำ ขลิบขอบอินธนูด้วยสีดำ (สีดำ แสดงถึงเหล่าทหารช่าง) ดูเหมือนว่าในยุคแรกๆเครื่องแต่งกายทหารไทยได้รับอิทธิพลมาจากเยอรมัน ที่มา : การแต่งกายของทหารเยอรมันในสงครามโลกครั้งที 2
http://www.geocities.com/saniroj โดย พันโทศนิโรจน์ ธรรมยศ
ต่อมาได้มีคำสั่งกรมยุทธนาธิการ ที่ 3/6 ลง 1 เม.ย. ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) เรื่องหมายสีบ่าทหาร โดยให้ใช้สีเครื่องหมายดังต่อไปนี้
นายทหารชั้นนายพลทั้งปวง ใช้สีอย่างพลรบและหมายสีบานเย็น
เหล่าทหารทั้งปวง ให้ใช้บ่าอย่างพลรบและหมายสีดังนี้
เหล่าทหารม้า หมายสี น้ำเงิน
เหล่าทหารปืนใหญ่ หมายสี เหลือง
เหล่าทหารช่าง หมายสี ดำ
เหล่าทหารพราน หมายสี เขียว
เหล่าทหารพาหนะ หมายสี เลือดหมู
เหล่าทหารราบและนักเรียนนายร้อย หมายสี แดง
ดูเหมือนว่าประเพณีหมายสีบ่านี้จะกลายเป็นแนวทางในการยึดถือเอาเป็นสีประจำเหล่าไปด้วย แม้นว่าในเวลาต่อมาจะมีการกำหนดเครื่องหมายเหล่าแล้วก็ตาม ดังเช่น พรบ.ธง พ.ศ.2522 หมวด 3ธงทหาร มาตรา 32 ธงแสดงหน่วยทหารบก (4) ธงแสดงหน่วยกองพันระบุว่า
ผืนธงส่วนล่างของธงแสดงหน่วยทหารตาม (2)(3) และ (4) เป็นสีตามสีของหน่วยทหาร....
ซึ่งในที่นี้หน่วยทหารเหล่าทหารช่างมีสีดำดังรูปภาพ ทั้งนี้ประเพณีการยึดถือเอาสีเป็นสัญลักษณ์ของเหล่ายังรวมไปถึงผ้าพันคอประกอบเครื่องแบบสนามในยามประกอบพิธี เช่น งานสวนสนามในพิธีการสำคัญเป็นต้น แม้นไม่มีระเบียบระบุไว้แต่เราจะสังเกตพบว่าเหล่าทหารปืนใหญ่หรือทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ทุกหน่วยล้วนใช้ผ้าพันคอสีเหลือง เหล่าทหารสื่อสารใช้ผ้าพันคอสีม่วงเม็ดมะปราง เหล่าทหารม้าใช้ผ้าพันคอสีฟ้าหม่น เป็นต้น ความแตกต่างของแต่ละหน่วยเป็นเพียงตราสัญลักษณ์ประจำหน่วยบนผืนผ้าเท่านั้น

ธงประจำหน่วยทหารระดับกองพัน
ผืนธงส่วนล่างของธงจะแสดงหน่วยทหาร เป็นสีตามสีของหน่วยทหาร เช่นในภาพเป็นธงประจำหน่วยกองพันทหารช่าง
ย้อนกลับมาพิจาณาเครื่องหมายเหล่าทหารอีกครั้งหนึ่ง พรก.เครื่องแต่งตัวแบบทหารบก พ.ศ.2462 (ร.6) มีการปรับปรุงรูปแบบบางประการซึ่งรวมถึงการหมายสีบ่าที่เปลี่ยนแปลงบางเหล่า แต่สำหรับทหารช่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยที่ทหารจำพวกครูก็ให้หมายสีดำด้วย
พรก.เครื่องแบบทหารบก พ.ศ.2475 ออกใช้เมื่อ 22 ส.ค.2475 (ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ในหมวด 4 เครื่องหมายเหล่าและจำพวก มาตรา 13 เครื่องหมายแสดงเหล่าและจำพวกทหารมีดังต่อไปนี้
1 สำหรับทหารพลรบให้มีเครื่องหมายแสดงเหล่า ทำด้วยโลหะสีทองติดที่คอเสื้อด้านขวา แต่ทหารนอกประจำการติดที่ใต้ปกกะเป๋าเสื้อบนด้านข้างซ้าย คือ
ฯลฯ
ทหารช่าง ใช้สมอ พลั่ว และขวานไขว้กันกลางบัวกนก
ฯลฯ

พรก.เครื่องแบบทหารบก 2475 กำหนดเครื่องหมายแสดงเหล่า สำหรับทหารช่างใช้สมอ พลั่วและขวานไขว้กันกลางบัวกนก ซึ่งผู้เขียนยังไม่สามารถหาภาพได้แต่ก็อาจเทียบเคียงกับภาพกลางซึ่งเป็นตราหน้าหน้าหมวกรูปอุณาโลมและจักรบนบัวกนก หรือปทุมกนก อนึ่งรูปอุณาโลมในปทุมกนกเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1 พระผู้ทรงเป็นปฐมบรมราชจักรีวงศ์

เครื่องแบบทหารบก ตามกดกะซวงกลาโหม พ.ศ. 2486 ออกตาม พรบ.เครื่องแบบทหาร พ.ศ. 2477 ว่าด้วยเครื่องแบบทหานบก (ฉบับที่ 26 ) ในภาพเป็นเครื่องปกติแบบ ค.
ต่อมามีการออกกฎกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเครื่องแบบทหารบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2479 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องเครื่องหมายเหล่า ดังนี้
หมวด 4 เครื่องหมายเหล่า , จำพวก และสังกัด ข้อ 15 ทหารพลรบให้มีเครื่องหมายทำด้วยโลหะสีทองติดที่คอเสื้อทั้งสองข้าง แต่เสื้อเปิดอกให้ติดที่คอพับของเสื้อตอนบน เหนือแนวเครื่องราช อิสริยาภรณ์ คือ
ฯลฯ
ทหารช่าง ใช้รูปสมอ พลั่ว และขวานไขว้กัน
ฯลฯ
ดังนั้น เราจึงพบว่าเครื่องหมายเหล่าทหารช่างที่มีสัญลักษณ์รูปสมอ พลั่ว และขวานไขว้ กันที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้นั้น เป็นผลมาจากกฎกระทรวงซึ่งประกาศใช้ รกจ. เมื่อ 6 ธ.ค.2479 โดยในระยะแรกๆ จะติดที่ปกคอเสื้อทั้งสองข้างจนถึงปี พ.ศ.2493 จึงเปลี่ยนเป็นติดด้านขวา ส่วนสังกัดนั้นติด ด้านซ้ายของปกเสื้อ กฎกระทรวง พ.ศ.2495 ระบุเครื่องหมายสังกัดซึ่งประดับไว้ที่คอเสื้อด้านซ้ายในหมวด 3 ข้อ 32 ว่า
........... ข้อ 32 ทหารประจำการที่สังกัดกองบัญชาการกองทัพบก และหน่วยราชการส่วนกลาง และส่วนการศึกษาของกองทัพบก (เว้นแต่นักเรียนทหาร) ที่ใช้เครื่องหมายสังกัดดังนี้
ฯลฯ
กรมการทหารช่าง ใช้อักษร กช.
ฯลฯ
อนึ่ง ตราสัญลักษณ์ของกรมการทหารช่าง ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันนั้น ถือกำเนิดตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตาม พรบ. เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 (ฉบับที่ 58 )ลง 16 เม.ย. 2513 ดังภาพที่ปรากฏ

เครื่องหมายราชการของกรมการทหารช่างเริ่มใช้ พ.ศ. 2513
คาถาภาษิตของเหล่าทหารช่าง วายามะ : ที่มา และความหมาย
คาถาภาษิต ( motto ) เป็นประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณ เป็นคำปลุกเร้าขวัญและกำลังใจให้บุคคล องค์กร โดยเฉพาะหน่วยทหารมีจิตใจที่ยึดมั่นฮึกเหิม ทั้งอาจกล่าวได้ว่ายึดถือเอาแบบมาจากตะวันตก ดังจะได้กล่าวต่อไป เป็นเสมือนคติพจน์ อุดมการณ์ หรือกระทั่ง คำปลุกเร้าให้เกิดความฮึกเหิม เตือนสติ ประเพณีของไทยนิยมเขียนเป็นภาษาบาลีแล้วกำกับด้วยความหมาย ตัวอย่างเช่น
กยิราเจ กยิราเถนํ ทำสิ่งใดทำให้จริง
(กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์)
วิเชตฺวา พลตา ภูปํ รฏฺเฐ สาเธตุ วุฑฺฒิโย
ขอกองทหารแห่งพระราชา จงยังชัยชนะแก่ข้าศึกแล้วนำความเจริญสู่แผ่นดิน
(กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์)
สงฺคาเม เมมตํ เสยฺโย ยญฺเจชีเว ปราชิโต
ตายเสียในสงคราม ดีกว่ามีชีวิตอยู่อย่างผู้แพ้
(กองพลที่ 1 รักษาพระองค์)
อากาเส ยนฺติ อิทธิยา ผู้มีฤทธิ์ย่อมไปได้ในอากาศ
(เหล่าทหารอากาศ)
อสาธุ สาธุนา ชิเน พึงเอาชนะความชั่วด้วยความดี
(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน)
ดังนั้นแล้ว วายามะ ซึ่งเป็นคาถาภาษิตของเหล่าทหารช่าง นั้นมีที่มาและความหมายเช่นใด เรื่องนี้ผู้เขียนได้พบว่าข้อความ วายามะ เริ่มปรากฏครั้งแรกในสัญลักษณ์ของโรงเรียนทหารช่างแต่ยังไม่สามารถสอบทานถึงความเป็นมาได้อย่างชัดเจน วายามะ นั้น มีความหมายว่า ความเพียรพยายาม ซึ่งสอดคล้องกับคุณลักษณะของเหล่าทหารช่างเป็นอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะเมื่อเราได้ทราบว่าเป็นคาถาภาษิตในเรื่องพระมหาชนก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเรียบเรียงจากทศชาติชาดก ด้วยการกล่าวถึงการบำเพ็ญเพียรบารมีในชาติที่ 2 ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า (พระเจ้าสิบชาติ : ผู้เขียน)

พระมหาชนกผู้บำเพ็ญบารมี วายามะ (ความเพียรพยายาม) ในชาติที่ 2 ของทศชาติ ซึ่งเหล่าทหารช่างถือเอาเป็นคาถาภาษิตประจำเหล่า ในภาพจากพระมหาชนก... ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์
เมื่อผู้เขียนค้นคว้าคาถาภาษิตของเหล่าทหารช่าง กองทัพบกสหรัฐ พบนัยสำคัญของความคล้ายคลึงกับทหารช่างกองทัพบกไทย บางประการคือ สัญลักษณ์โรงเรียนทหารช่าง เป็นรูปตะเกียงคล้ายกับโรงเรียนทหารช่าง ทบ.ไทย ส่วนคาถาภาษิตนั้นระบุว่า คือ ESSAYONS ซึ่งเมื่อค้นคว้าต่อไปอีกจะพบว่ามีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส อนึ่ง รากศัพท์ของทหารช่าง สรอ.นั้นได้รับอิทธิพลจากภาษาฝรั่งเศสมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 กระทั่งคำว่า ENGINEER ซึ่งมีความหมายว่าทหารช่าง ก็มีรากฐานมาจากคำศัพท์ในภาษาฝรั่งเศสคำว่า Ginnie ซึ่งหมายถึง ผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานด้านเครื่องจักรกลสงคราม เช่น หอคอยเคลื่อนที่ ลาดสำหรับพาดกับกำแพงข้าศึก เป็นต้น ส่วนคำว่า ESSAYONS นั้นมีความหมายว่า Let us try หมายถึง ขอผองเราจงมีความเพียรพยายาม ซึ่งมีความหมายเดียวกับ วายามะ ของทหารช่าง ทบ.ไทย ส่วนใครจะลอกเลียนใคร ผู้อ่านลองไปคิดดู

เครื่องหมายโรงเรียนทหารช่าง ทบ.สรอ. และ ทบ.ไทย ที่มีความคล้ายคลึงกัน กระทั่งคาถาภาษิตที่กำกับไว้ด้านล่าง
.......................................................................
ที่มาเอกสารอ้างอิง :: *