ฝั่งซ้ายค่ายทหารราชบุรี                  ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง::ประวัติเมืองราชบุรี::

                 ในปี พ.ศ. 2360 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลองไปอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ และโปรดเกล้า ให้สร้างกำแพงเมืองล้อมรอบทั้งนี้เพื่อให้ข้าศึกเข้าถึงตัวเมืองได้ยากขึ้น และมีทางถอยเมื่อเสียเปรียบครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปรับปรุงการปกครองเป็นมณฑลต่าง ๆ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองกลับไปอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ เมื่อปี พ.ศ.2440 โดยย้ายศาลากลางจังหวัดมาอยู่รวมกันกับศาลาว่าการมณฑลทางฝั่งขวา ส่วนเมืองเก่าบนฝั่งซ้ายก็คงเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเจ้าเมืองกรมการเก่าๆ จนถึงปี พ.ศ.2442 ได้มีการจัดตั้งกองทหารบกตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อสะดวกในการวางกำลังไว้ตามพื้นที่ ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2446 จึงได้ย้ายกองบัญชาการกองพลทหารบกที่ 4 และกรมทหารบกที่ 4 จากสวนดุสิต มาตั้งอยู่ในกำแพงเมืองราชบุรีบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองอันเป็นที่ตั้งของค่ายทหารในปัจจุบัน
                 ในปี พ.ศ.2454 จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น " นายทหารพิเศษ " อยู่ในกรมทหารหน้า อันเป็นต้นรากของกรมทหารบกราบที่ 4 ราชบุรี มาตั้งแต่ พ.ศ.2421 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารบกราบที่ 4 ค่ายทหารราชบุรี พระองค์ทรงทำนุบำรุงหน่วยให้เจริญก้าวหน้ามากมาย ทำให้ทหารมีโรงกินอยู่หลับนอนสะดวกสบาย ทันสมัยและ ได้ทรงมีความอุตสาหะเสด็จมาฉลองโล่ และ พระราชทานพระราโชวาทด้วยพระองค์เองเกือบทุกปี เว้นแต่ปีที่มีพระราชภาระอย่างอื่นมาขัดขวางจนกระทั่งเสด็จทิวงคต เมื่อ พ.ศ. 2471 ซึ่งรวมเวลาที่ทรงเป็นนายทหารผู้ใหญ่อยู่ในกรมนี้ถึง 50 ปีเต็ม
                 จึงเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่ได้ขอพระราชทานนามค่ายทหารราชบุรีแห่งนี้ว่า " ค่ายภาณุรังษี " เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2507 เพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับพระองค์ผู้ทรงเป็นอุปถัมภก หน่วยทหารในค่ายนี้มาเป็นเวลานาน .......... (รายละเอียดเพิ่มเติม... )

ประวัติจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

                 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
                       - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                       - สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์
                       - สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
                 ทั้งนี้จากการสืบค้นการสืบสายสกุลในหนังสือราชนิกุล รัชกาลที่ 5 ทำให้ทราบว่าสายสกุล “ ยงใจยุทธ ” อันเป็นสายสกุลที่เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ได้พระราชทานให้แก่บุรพชนของหม่อมเล็กผู้เป็นชายา และมีฐานะเป็นอาของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ( เนื่องจากหม่อมเล็กเป็นธิดาอันเกิดแต่นางถม กับนายกองนา ทองดำ ยงใจยุทธ ผู้เป็นปู่ของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ) นั้น คือราชนิกุล หรือผู้สืบเชื้อสายทางพระชนนีในรัชกาลที่ 3
                 
จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประสูตรเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2402 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงเป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชชนนี กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสกสมรสกับ แม้น บุนนาค บุตรีเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒนพิพัฒนศักดิ์ ( วร บุนนาค )
                 การศึกษา เมื่อพระชนมพรรษาได้ 8 ปี พระองค์ได้ทรงศึกษาวิชาหนังสือภาษาไทย จากสำนักคุณหญิงในพระตำหนักหลังนอก เมื่อตอนผนวชเป็นสามเณรก็ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนวิชายุทธศาสตร์ด้วย ส่วนแบบอย่างทางราชการ พระราชประเพณีต่างๆ ได้ทรงศึกษาในสำนักในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ และวิชาทหารได้ทรงศึกษาในสำนักกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่โรงทหาร
                 ตำแหน่งหน้าที่ และศักดิ์
                 
ปี 2413    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารพิเศษ (นายร้อยโท)
                 ปี 2418     - ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายพันโท (ยศพิเศษ)
                                - เมื่อพระชนม์พรรษา 20 ปี ทรงเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารหน้าแต่งเครื่องแบบยศนายพันเอก
                                - ในปีต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้บังคับกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์มียศเป็นนายพันโทแต่งพระองค์ได้เหล่าทหารราบ และทหารม้า
                 ปี 2430     ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้บังคับราชการทั่วไป และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเป็นนายพันเอกทหารบก
                 ปี 2444      ทรงได้รับตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และได้ทรงเป็นผู้รับตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทหารเรือเพิ่มขึ้นในหน้าที่เสนาบดีกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง
                 ปี 2453    ทรงได้รับตำแหน่งจอมพลทหารบก กับดำรงตำแหน่งจเรทัพบกอีกตำแหน่งหนึ่ง
                 ปี 2454    ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเลื่อนเป็นกรมพระยา และให้ทรงเป็นธุระดูแลกำกับควบคุมบังคับบัญชาเสือป่ากองมณฑลราชบุรี
                 ปี 2456    ได้รับพระราชทานยศจอมพลเรือในกระทรวงทหารเรือ
                 ปี 2461    ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกองเอกพิเศษ กรมเสือป่าพรานหลวง รักษาพระองค์
                 ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยศพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช.......... (รายละเอียดเพิ่มเติม... )

 

รูปจำลองเจ้าพ่อน้ำเพชร     ศาลเจ้าพ่อน้ำเพชร     พราหมณ์ทำพิธีทักษิณาวัตรบวงสรวง     พล.ต.กาจบัณฑิต โชติกญาณ เป็นประธานประกอบพิธีเจิมแผ่นฤกษ์ และเครื่องมงคล

ประวัติศาลเจ้าพ่อน้ำเพ็ชร

                 ที่ตั้ง ศาลเจ้าพ่อน้ำเพ็ชรตั้งอยู่ภายในค่ายภาณุรังษี บริเวณมุมสนามหน้ากองบัญชาการกรมการทหารช่าง ด้านทิศตะวันตกใกล้โรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี เจ้าพ่อน้ำเพ็ชรเป็นเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์คู่กับเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองรักษาดูแล ค่ายภาณุรังษี ตลอดถึงข้าราชการและครอบครัวที่พักอาศัยอยู่ในค่ายทหารแห่งนี้ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง สมัครสมานสามัคคีและปราศจากภัยพิบัติทั้งปวง โดยมีประวัติความเป็นมาดังนี้คือ ในสมัยของ พลเอก กาจบัณฑิต โชติกญาณ อดีตเจ้ากรมการทหารช่างคนที่ 3 ขณะดำรงยศเป็นพลตรีและเป็นเจ้ากรมทหารช่างในช่วงปี 2502 – 2510 ได้ดำริให้มีการตั้งชื่อค่ายของหน่วยทหารที่อยู่รวมกันอยู่ในพื้นที่ของกรมการทหารช่างและของจังหวัดทหารบกราชบุรี ให้มีชื่อค่ายเรียกขานเหมือนหน่วยทหารในพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้มีการตั้งชื่อค่ายกันมานานแล้วอนึ่งเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นการถวายพระเกียรติยศและเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาพิมุขเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งได้เคยปกครองหน่วยทหารในพื้นที่นี้มาก่อนจึงได้ขอพระราชานุญาตนำพระนามย่อของพระองค์ท่านมาใช้เป็นชื่อค่ายว่า “ ค่ายภาณุรังษี ” และต่อมาได้ดำริจะทำการก่อสร้างป้ายชื่อค่ายภาณุรังษีขึ้น ให้มีขนาดใหญ่โดดเด่น เป็นศรีสง่า เห็นเด่นชัดเจนเป็นศิริมงคลและเพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรื่อง ร่มเย็นเป็นสุขแก่ปวงข้าราชการจึงได้เชิญอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม กระทำพิธีนั่งทางในหาฤกษ์ยามที่เป็นมงคล กำหนดวันวางศิลาฤกษ์ ก็ได้เห็นนิมิตจากเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้แสดงให้เห็นในญาณ มีแสงสว่างพวยขึ้นเหนือแม่น้ำแม่กลองเป็นนิมิตหมายแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ที่จะกำหนดเป็นค่ายภาณุรังษีได้มีเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ดูแลอยู่ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยไม่มีผู้ใดทราบมาก่อนและไม่มีการอัญเชิญให้ขึ้นประทับบนศาลถาวรให้เป็นที่เคารพสักการะของข้าราชการพ่อค้าประชาชน ดังนั้นอาจารย์ผู้ชำนาญเวทย์จึงได้เสนอแนะให้ กรมการทหารช่างได้ทำการสร้างศาลให้เป็นที่ประทับของเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์องค์นี้และอัญเชิญขึ้นประทับบนศาลเสียและจากนิมิตอันที่เป็นมงคลที่เกิดแสงสว่างพวยพุ่งขึ้นเหนือแม่น้ำแม่กลอง อาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมถึงถวายนามว่า “ เจ้าพ่อน้ำเพ็ชร ” สำหรับการวางศิลาฤกษ์ป้ายชื่อค่ายภาณุรังษี ได้กำหนดทำพิธีงานวางศิลาฤกษ์ ณ วันอังคาร แรม 9 ค่ำ เดือน 12 ปีขาล ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2505 เวลา 10.30 น . โดยอาจารย์ สุมิตร สัทธาธิโก ( ศรีทอง ) เป็นเจ้าพิธีพราหมณ์ หลังจากนั้นอีก 3 วัน ณ วันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีขาล ตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายน 2505 ก็ได้มีพิธีบวงสวงตั้งศาลและเชิญเจ้าพ่อน้ำเพ็ชรขึ้นประทับบนศาลดดยอาจารย์ผุ้ชำนาญเวทย์จากกรุงเทพมหานคร ในขั้นต้นนั้น ยังไม่ได้จัดทำรูปจำลองของเจ้าพ่อน้ำเพ็ชรขึ้น คงใช้รูปเจว็ดเป็นเครื่องหมายแทนและต่อมาก็มีผู้เอาพระพุทธรูปจำลองมาตั้งแทนให้ เจ้าพ่อน้ำเพ็ชรเป็นเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ ข้าราชการและครอบครัว พ่อค้า ประชาชน ผู้ใดมีทุกข์ร้อน มาบนบานศาลกล่าว ก็ได้ช่วยอนุเคราะห์ปัดเป่าทุกข์ภัยต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไป ได้ตามที่ปรารถนาทุกประการ โดยเฉพาะผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริง ก็จะไปแสดงนิมิตปรากฏกายให้เห็นในความฝันบอกเล่าโชคลาภให้ ช่วยแก้จนมาแล้วหลายราย มีผู้เคารพนับถือมา ตั้งแต่ปี 2505 สืบมาจนถึงปัจจุบัน .....