สิ่งของคู่บ้านคู่เมือง

                   ดวงตราประจำจังหวัดราชบุรี แต่เดิมมีรูปลักษณะเป็นภาพภูเขา ล้อมรอบด้วยงู เป็นดวงตราที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2467 ให้แก่กองเสือป่า มณฑลราชบุรี ซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่เขางู ต่อมาทางจังหวัดเห็นว่าดวงตราดังกล่าวเป็นตราที่  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานให้แก่เสือป่าเท่านั้นจึงเป็นการสมควรที่จังหวัดราชบุรีควรจะมีตราใหม่ซึ่งเป็นตรา ประจำจังหวัดของตนเองแทนดวงตราของเก่า ทางจังหวัดราชบุรี จึงได้แจ้งไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ขอให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบดวงตราให้ใหม่ โดยกรมศิลปากรมอบหมายให้งานศิลป์ประยุกต์ กองหัตถศิลป์ โดยนายพินิจ สุวรรณบุณย์ เป็นผู้คิดค้นออกแบบลักษณะของดวงตราเป็นอาร์มวงกลมใช้สัญลักษณ์รูปเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ 2 สิ่ง คือ พระแสงขรรค์ชัยศรีประดิษฐานอยู่บนบันไดแก้ว และ ฉลองพระบาทคู่ประดิษฐานอยู่บนพานทองขอบอาร์มเป็นลายช่อกนกประกอบพื้นช่องไฟ ใช้สีตามความเหมาะสมสวยงามด้านศิลป์ ทั้งนี้ได้แนวความคิด มาจากหลักฐาน " รูปฉลองพระบาทคู่ประดิษฐานอยู่บนพานทอง" ที่ปรากฏบนผืนธงซึ่งพระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้แก่กองเสือป่ามณฑลราชบุรี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2467 จังหวัดราชบุรีโดยสภาจังหวัดได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่นี้เป็นตราประจำตราประจำจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบัน…..
                   
ประวัติศาสตร์ เมืองราชบุรี และค่ายทหารราชบุรี  ประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองราชบุรี การสำรวจค้นคว้าเกี่ยวกับอารยธรรม และชุมชนโบราณในพื้นที่ จว.ราชบุรี จากร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ สามารถยืนยันได้ว่าบริเวณแถบนี้เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ร่องรอยและหลักฐานที่สามารถกำหนดอายุได้ว่าเก่าแก่ที่สุดนั้น เริ่มต้นในช่วงของวัฒนธรรมยุคหินกลาง หรือเมื่อประมาณ 10, 000 ถึง 8, 000 ปีมาแล้ว ต่อมาได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อประมาณ 1, 400 ปีมาแล้ว คลื่นอารยธรรมลูกแรกได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เหล่านี้ให้เข้าสู่ยุคสมัยของประวัติศาสตร์ในที่สุด
                   สมัยทวาราวดี คือประวัติศาสตร์ คือประวัติศาสตร์หน้าแรกของสังคมไทย จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏ แสดงว่าราชบุรีเป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นก่อนที่ขอมจะเข้ามามีอำนาจในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งพ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางท่าว ขับไล่ขอมออกไปจากกรุงสุโขทัย และตั้งอาณาจักรสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 1800 ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงได้เอ่ยถึงเมืองราชบุรีไว้ในฐานะเมืองขอบขัณฑสีมา และเมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งราชธานีขึ้นใหม่ที่พระนครศรีอยุธยา เมืองราชบุรีก็มีชื่องอยู่ในเมืองขึ้นของพระนครศรีอยุธยาด้วย
                   ต่อมาในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 - พ.ศ. 2131 ) ทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองขยายอำนาจการปกครองของราชธานี เมืองราชบุรีจึงอยู่ในฐานะเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อราชสำนัก มีผู้ปกครองเมืองเรียกว่า “ ผู้รั้ง ” และ “ จ่าเมือง ” ( กรมการเมือง) ไว้คอยปฏิบัติหน้าที่ตามต้นสังกัดทั้งฝ่ายกลาโหม และฝ่ายจตุสดมภ์
                   หลังจากนั้นตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เมืองราชบุรีเป็นที่รวบรวมระดมพลมาป้องกันพระนคร และเป็นเมืองที่มีกองทัพประจำพร้อมที่จะร่วมทำศึกกับทัพหลวงได้ทันทีที่ข้าศึกรุกรานเข้ามาในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเมืองราชบุรีถูกเรียนกว่า “ เมืองปากใต้ตะวันตก ”
                   ยุคที่ไทยทำสงครามกับพม่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตลอดจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ราชบุรีก็เป็นเมืองหน้าด่านที่อยู่ติดชายแดนพม่า ซึ่งถูกใช้เป็นสมรภูมิในการทำศึกเพราะราชบุรีเป็นเสมือน “ ปราการด่านสุดท้าย ” ที่ข้าศึกจะโจมตีก่อนเข้าสู่เมืองหลวง เมื่อคราวเสียกรุงฯ ใน พ.ศ. 2310 เมืองราชบุรีก็ถูกพม่าย่ำยียับเยิน ผู้คนที่เหลือจากการถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ก็อพยพหลบหนีไปอยู่ที่อื่น 

ยุคที่ไทยทำสงครามกับพม่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตลอดจนถึงต้นรัตนโกสินทร์

                   ครั้นลุต้นรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2328 เกิดสงครามเก้าทัพ ซึ่งทัพที่ 2 ของพม่าได้เดินทัพเข้ามาทางด่านบ้องตี้ จะเข้าตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะสันตก และตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งเขางู แขวงเมืองราชบุรี แม้ว่าฝ่ายไทยในสมันนั้นจะมีกำลังพลน้อยแต่ด้วยพระปัญญาบารมีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง กองทัพไทยสามารถโจมตีทัพพม่าแตกพ่ายล้มตายมากมายศพทับถมจมดินอยู่ที่ทุ่งเขางูเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน นับเป็นสงครามที่ไทยสามารถปราบศึกพม่าได้ราบคาบนับแต่นั้นเป็นต้นมา
                   เมืองราชบุรีเดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลองมาแต่สมัยทวาราวดี นับได้ว่าเป็นเมืองขึ้นที่ตั้งอยู่ที่เดิมนานที่สุดเมืองหนึ่งในประเทศไทยจวบจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงดำริว่า ที่ตั้งเมืองเดิมเสียเปรียบในทางยุทธศาสตร์หากมีการรบพุ่งกันที่ทุ่งเขางู และหากฝ่ายไทยจำต้องถอยทัพจะเป็นการยากลำบากเนื่องจากมีแม่น้ำแม่กลองขวางกั้นอยู่ด้านหลัง จึงได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองไปอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง (คือฝั่งที่เป็นกรมการทหารช่างในปัจจุบัน) โดยโปรดเกล้าฯ ให้วางฤกษ์ฝังหลักเมืองเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2360 เวลา 07 . 00 น. และก่อสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐถือปูน ตัวกำแพงมีใบเสมา มีป้อม 6 ป้อม และประตู ๖ ประตู มีอาณาเขตกว้างประมาณ 6 เส้น ยาวประมาณ 20 เส้น (ซึ่งปัจจุบันคงเหลือเพียงแนวกำแพงป้อมเพียง 2 ป้อม และซุ้มประตูเพียง 4 ประตูเท่านั้น)

ศาลหลักเมืองภายในค่ายภาณุรังษี         ประตูเมืองโบราณเก่า และหลังจากการบูรณะซ่อมแซม         แนวกำแพงเมืองโบราณ

                   จากหลักฐานในสมุดราชบุรี พ.ศ. 2468 กล่าวไว้ว่า
                   “ …. ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองเดิมซึ่งตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกฝั่งขวาลำน้ำแม่กลอง ไปตั้งทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำคือทิศตะวันออก เยื้องกันข้ามกับเมืองเดิม เริ่มตั้งแต่วันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือนหก ปีฉลู จุลศักราช 1179 พุทธศักราช 2360 (ร.ศ. 36 ) มีการฉลอง 3 วัน ครั้งถึงวันพฤหัสบดี แรม 15 ค่ำ เวลา 7 ก.ท. ถึงกำหนดฤกษ์ ฝังหลักเมืองแล้วก่อสร้างกำแพงเมือง และสิ่งอื่นๆ ต่อไป กำแพงนี้ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน รูปกำแพงเป็นใบเสมา ดังเช่นกำแพงเมืองอื่นๆ มีป้อม 6 ป้อม ประตู 6 ประตู มีอาณาเขตกว้างประมาณ 6 เส้น ยาวประมาณ 20 เส้น …. การที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองจากฝั่งขวาเดิมไปอยู่ฝั่งซ้ายนี้ปรากฏว่าที่ตั้งเมืองเดิม ไม่เหมาะแก่ยุทธศาสตร์ ด้วยว่าเมื่อการทำศึกรบกับพม่าซึ่งมีสนามรบอยู่ตรงทุ่งเขางู และเหนือขึ้นไปกว่านั้น ขณะทำการรบหากจะต้องถอยทัพก็เป็นการติดขัดเพราะแม่น้ำแม่กลองขวางอยู่ทางหลัง เป็นการเสียเปรียบข้าศึกอยู่ เห็นว่าฝั่งซ้ายเป็นทำเลเหมาะกว่า ด้วยแม้การรบจะเสียทีข้าศึกจะเข้าถึงตัวเมืองได้ยาก โดยมีแม่น้ำขวางหน้าอยู่การคงเป็นเช่นนี้จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายและสร้างกำแพงเมือง และป้อมขึ้นอย่างแน่นหนามั่นคง …. ”

ฝั่งซ้ายค่ายทหารราชบุรี         ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง (ตะวันตก)         สะพานจุฬาลงกรณ์ข้ามแม่น้ำแม่กลอง

                 ตัวเมืองนี้ใช้เป็นศูนย์กลางทางการปกครองจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดระเบียบหัวเมืองขึ้นใหม่โดยแบ่งการปกครองออกเป็นมลฑลราชบุรี และย้ายศาลากลางเมืองราชบุรีกลับไปอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำแม่กลอง ไปรวมอยู่กับศาลาว่าการมณฑล คือตึกของสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุณนาค) ทำให้ศูนย์กลางเมืองราชบุรีกลับมาอยู่ทางฝั่งขวา (ตะวันตก) ของแม่น้ำแม่กลองที่เคยเป็นมาแต่เดิม และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานจุฬาลงกรณ์ข้ามแม่น้ำแม่กลอง เพื่อเชื่อมเมืองทั้ง 2 ฝั่งถึงกันใน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444 ) ส่วนเมืองเก่าบนฝั่งซ้ายก็คงเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้ากรมการต่างๆ จน พ.ศ. 2448 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาทั้งหมด เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร
                   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้นมีการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินในหลายๆ ด้าน รวมทั้งด้านการทหารด้วย และที่เมืองราชบุรีก็มีการยกระดับฐานะกองทหารที่ตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี ขึ้นเป็นกรมเรียกว่า “ กรมบัญชาการทหารบกมณฑลราชบุรี ” สังกัดกระทรวงยุทธนาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2441
                   พ.ศ. 2445 กรมทหารบกราบที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงทหารสวนดุสิต และมีพระองค์เจ้ากาญจนโนภาครัศมี (ภายหลังทรงเลื่อนขึ้นเป็น พ.อ.พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยบวรยศ) ได้แบ่งกำลังทหารในกรมมาตั้งอยู่ในกำแพงเมืองเก่าบน ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง เมืองราชบุรี ใน พ.ศ. 2445 นี้ กรมบัญชาการทหารบกมณฑลราชบุรี มี พ.ท.พระศรีณรงค์วิชัย เป้นผู้บังคับบัญชาหน่วยในบังคับบัญชา คือ กองบังคับการ , กองโรงเรียนนายสิบ , กรมทหารม้าที่ 2 , กองทหารปืนใหญ่ที่ 2 และ กรมทหารบกราบที่ 4 (ทหารหน้า)
                   พ.ศ. 2446 กรมบัญชาการกองพลทหารบกที่ 4 และกรมทหารบกราบที่ 4 ได้ย้ายจากสวนดุสิตมาสมทบตั้งอยู่ในกำแพงเมืองราชบุรีฝั่งซ้าย (มีโรงทหารใหญ่โตตามแบบสมัยใหม่) โดยมี พ.ต.หลวง สรสิทธิยานุการ (อุ่ม อิทรโยธิน ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น พล.ท.พระยาเทพ อรชุ่น) เป็นผู้บังคับการ และในปลายปีนี้ผู้บังคับการได้เปลี่ยนเป็น พ.ต.หลวงรัตนรณชัย (ยิ่ง จุลานนท์ ภายหลังเป็น พ.อ.พระยาวิเศษ สิงหนาท) หน่วยทหารที่ราชบุรี คงมีเช่นกล่าวแล้วใน พ.ศ. 2445
                   พ.ศ. 2448 หน่วยทหารที่ราชบุรี คงมี กรมทหารบกราบที่ 4 เป็นหน่วยหลัก โดยมี พ.ต.หลวงสรวิเศษเดชาวุธ (ม.ร.ว.วิง) เป็น ผบ.กรม
                   พ.ศ. 2451 กองพลทหารบกที่ 4 ราชบุรี มี พล.ต.พระยาพหลพลพยุหเสนา (นพ พหลโยธิน) เป็น ผล.พล. มีหน่วยบังคับบัญชา คือ กองบัญชาการกองพล , กองพยาบาลที่ 4 , ศาลมณฑลทหาร , กองพันพิเศษ (ประกอบด้วยกองนักเรียนนายสิบ , กองทหารช่างที่ 4 , กองทหารพาหนะที่ 4 , กรมหารปืนใหญ่ที่ 4 , กรมทหารราบที่ 4 ราชบุรี มี พ.ท.พระศักดิ์ เสนีย์ (ม.ล.อุดม เสนีย์) เป็น ผบ.กรม และกรมทหารราบที่ 14 เพชรบุรี)
                   พ.ศ. 2453 กรมทหารบกราบที่ 4 มี พ.ต.หลวงรามเดชะ (ตาด สุวรรณวาสี) เป็น ผบ.กรม
                   พ.ศ. 2454 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นผู้บังคับการพิเศษกรมทหารบกราบที่ 4
                   พ.ศ. 2454 กรมทหารบก กรมทหารบกราบที่ 4 มี ร.อ.ขุน.ศาสตรายุทธพิไชย ( สายบุณยรัตพันธ์) เป็นผู้รั้ง (ภายหลังได้เป็น พ.ต.หลวงเสนีย์พิทักษ์) และในปีเดียวกันนี้ พ.ต.หลวงโจมจัตุรงค์ (นาก) มาเป็น ผบ.กรม
                   พ.ศ. 2456 ได้รับคำสั่งให้กรมทหารบกราบที่ 4 ไปขึ้นอยู่กับกองทัพน้อยทหารบกที่ 1 และทรงย้าย พล.ต.พระยาพหลพลพยุหเสนา (นพ พหลโยธิน ภายหลังเป็น พล.ท.พระยาพหลพลพยุหเสนา ผบ.พล. 4 ) ไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช (ภายหลังเป็น พล.ท. และกรมหลวง) มาเป็น ผบ.พล. 4 แทน แต่เมื่อ พล.ต.พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นย้ายอีก ก็โปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.พระยาพิไชยชาญฤทธิ (ผาด เทพหัสดิน) เป็น ผบ.พลทหารบกที่ 4 และแยกเป็นกองพลอิสระต่อไป
                   พ.ศ. 2460 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ พ.อ.พระยาอมรวิสัยสรเดช (ทิน โรหิตะพินทุ ภายหลังเป็น พล.ต.) มาทำการแทน ผบ.พล. 4 เพราะพระยาภิไชยชาญฤทธิ ต้องบังคับบัญชาการรบร่วมกับพันธมิตรในยุโรป
                   พ.ศ. 2462 พล.ท.พระยาพิไชยชาญฤทธิ กลับมารับตำแหน่งเดิม แต่ไม่นานก็ย้ายไปเป็น สมุหเทศาภิบาล ซึ่งโปลดเกล้าฯ ย้าย พล.ต.ม.จ.ทศศิริวงศ์ มาเป็น ผบ.พล.ทหารบกที่ 1 ต่อไป
                   พ.ศ. 2476 มณฑลทหารบกที่ 5 และจังหวัดทหารบกราชบุรีได้จัดตั้งขึ้นที่ค่ายทหารราชบุรี และในปีนี้กองพันทหารช่างที่ 1 ได้ย้ายจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาตั้งในจังหวัดราชบุรี
                   พ.ศ. 2477 มณฑลทหารบกที่ 5 และจังหวัดทหารบกราชบุรี ซึ่งมีเขตครอบคลุมพื้นที่ จว.ราชบุรี , จว.กาญจนบุรี และจว.สมุทรสงคราม มี พ.ท.หลวงเสนาณรงค์ เป็นผู้บังคับมณฑลทหารบกที่ 5 มีหน่วยขึ้นตรงคือ กองบังคับการมณฑล , กองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่ 5 , กองเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 5 , กองพันทหารราบที่ 21 (ร.อ.อภิชิต เรืองเดช เป็น ผบ.พัน ) , กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 4 ( พ.ต.หลวงอดุลเดชจรูญ เป็น ผบ.พัน )
                   พ.ศ. 2478 มณฑลทหารบกที่ 5 มี พ.อ.หลวงเสนาณรงค์ เป็นผู้บังคับหน่วย ได้มีการเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงหน่วย คือ ประกอบด้วย กองบังคับการมณฑล , กองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่ 5 หมวดสัตวรักษ์มณฑลทหารบกที่ 5 , กองเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 5 , กองทหารสื่อสารที่ 5 , กองพันทหารราบที่ 37 , กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 15 และกองพันทหารช่างที่ 1
                   พ.ศ. 2484 มณฑลทหารบกที่ 5 ได้ย้ายไปตั้งที่ จว.เพชรบุรีและรวมเรียกว่า “ มณฑลทหารบกที่ 5 และจังหวัดทหารบกเพชรบุรี ” จังหวัดทหารบกราชบุรีกลับไปขึ้นตรงต่อมณฑลทหารบกที่ 1 พระนคร โดยมี พ.ท.แถม จารุสังข์ เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรี
                   และในปี พ.ศ. 2484 นี้ แผนกทหารช่าง ได้ย้ายจากจังหวัดพระนครมาอยู่ที่ราชบุรี โดยมี พ.ท.หลวงประเสริฐ ยงยุทธ ทำการแทนหัวหน้าแผนกทหารช่าง
                   พ.ศ. 2485 จังหวัดทหารบกราชบุรี กลับไปขึ้นอยู่ในเขตของจังหวัดทหารบกเพชรบุรี
                   พ.ศ. 2488 แผนกทหารช่างได้แปรสภาพเป็นกรมจเรทหารช่าง โดยมี พล.ต.ม.ล.โอสถ ทินกร เป็นจเรทหารช่าง
                   พ.ศ. 2490 จังหวัดทหารบกราชบุรีถูกจัดตั้งขึ้นอีก ตามข้อบังคับทหารว่าด้วยการแบ่งเขตมณฑล และจังหวัดทหาร พุทธศักราช 2490 ลง 14 ม.ค. 90 ประกอบด้วย จว.ราชบุรี และ จว.กาญจนบุรี โดยให้เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อมณฑลทหารบกที่ 1 มี พล.ต.ม.ล.โอสถ ทินกร เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรี
                   พ.ศ. 2495 กรมจเรทหารช่าง ได้แปรสภาพเป็นกรมการทหารช่างมาจนถึงปัจจุบัน
                   ปัจจุบันค่ายทหารราชบุรี ได้รับพระราชทานนามค่ายว่า “ ค่ายภาณุรังษี ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เนื่องจากค่ายทหารที่จังหวัดราชบุรีนั้นเดิมเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองพลทหารบกที่ 4 และ กรมทหารบกราบที่ 4 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 และผู้ที่เกี่ยวข้อง และทำความเจริญให้แก่ค่ายนี้มากที่สุดก็คือ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็น “ นายทหารพิเศษ ” อยู่ในกรมทหารหน้า ซึ่งเป็นต้นรากของกรมทหารบกราบที่ 4 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2421 และใน พ.ศ. 2454 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารบกราบที่ 4 จนกระทั่งเสด็จทิวงคตเมื่อปี พ.ศ. 2471 ซึ่งคิดเวลาที่ทรงเป็นนายทหารผู้ใหญ่อยู่ในกรมนี้ ถึง 50 ปีเต็ม
                   ตลอดระยะเวลา 50 ปีนั้น ได้ทรงทำนุบำรุงกรมทหารบกราบที่ 4 ที่อยู่ในค่ายทหารราชบุรีนี้ ให้เจริญก้าวหน้ามากมายทำให้ทหารมีโรงกินอยู่หลับนอนสะดวกสบายทันสมัย และได้ทรงมีความอุตสาหะเสด็จมาฉลองโล่ และพระราชทาน พระราชโอวาทด้วยพระองค์เองเกือบทุกปี เว้นแต่ปีที่ทรงมีพระภาระอย่างอื่นมาขัดขวาง จึงเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่ได้ขอพระราชทานนามค่ายทหารราชบุรีแห่งนี้ว่า “ ค่ายภาณุรังษี ” และได้รับพระราชทานชื่อค่ายภาณุรังษีเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2507 ซึ่ง ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เป็นประธานพิธีเปิดป้าย “ ค่ายภาณุรังษี ” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2509 โดยมี พลตรีกาจบัณฑิต โชติกาณ เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นผู้กล่าวรายงาน ….