อันเนื่องมาจากพระดำริ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์   ต.ลำแก่น   อ.ท้ายเหมือง   จ.พังงา 
( รูปแบบไฟล์    )

 

                     โครงการชุมชนบ้านน้ำใส เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระดำริ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อให้เป็นชุมชน ที่พักอาศัย เป็นศูนย์ฝึกพัฒนาอาชีพ แก่ผู้ประสบภัย เป็นศูนย์การเรียนรู้ พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ มีการจัดการด้านการตลาด และให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่ สามารถ พัฒนาให้เป็นสถานที่สำคัญ และมีบทบาทในการช่วยเหลือ ฟื้นฟู พื้นที่ประสบภัย ในด้านเศรษฐกิจของชุมชน และส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ระดับจังหวัด ในอนาคตต่อไป สถานที่ตั้งโครงการ บนเนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๑ งาน ๔๔ ตารางวา บริเวณชุมชนบ้านน้ำใส ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

             

                     แนวความคิด โครงการ : “ ชุมชนที่น่าอยู่ มีเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถพึ่งพาตนเอง ด้วยสินค้า และบริการ ของชุมชนอย่างยั่งยืน ” ประกอบด้วย สถานที่ฝึกอาชีพ พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้า ซึ่งเน้นที่สินค้าพื้นเมือง และ มีการจัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่จัดการด้านการตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้น  
                     
โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เลขาธิการมูลนิธิจุฬาภรณ์ ,นายดำรง รัตนพานิช รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ,คุณหญิงจรัสศรี ทีปีรัช ผู้อำนวยการสำนักองค์ประธาน ,พล.อ.ชาญ บุญประเสริฐ ผู้ช่วยประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และคณะทำงานจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมสนองงานตามแนวพระดำริ

                     แนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม : ประยุกต์จากเรือนไทยในภาคใต้ ในด้านการใช้รูปทรงหลังคาที่สูง และกันฝนได้ทุกด้าน (ทรงปั้นหยา) มีการประดับประดาลวดลาย หรือ การตกแต่งอาคาร ด้วยรายละเอียดต่างๆ มีการนำองค์ประกอบ เช่น การพอกเสาที่ฐาน ตามรูปแบบบ้านไทยภาคใต้ ที่ทำฐานคอนกรีตสูง เพื่อรองรับเสาไม้ให้พ้นจากระดับน้ำท่วม และสะดวกแก่การย้ายบ้าน  
                     
การวางผังใช้ลักษณะของกลุ่มเรือนไทยเป็นต้นแบบในการใช้พื้นที่ส่วนกลางเชื่อมอาคาร การตกแต่งภูมิทัศน์ โดยทั่วไปเน้นรูปแบบสวนเขตร้อน ใช้ต้นไม้ตามธรรมชาติ เพื่อสะดวกแก่การดูแล และให้มีการเชื่อมโยงกับระหว่างภายในอาคาร มาสู่พื้นที่ภายนอกโดยการใช้ต้นไม้ บางส่วนอาจมีการยกพื้นระแนงเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติของพื้นดิน หรือ มีการติดตั้งน้ำพุในสระน้ำต่างๆ เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับโครงการ

             

                     องค์ประกอบของโครงการ : ประกอบด้วยสองส่วนหลัก อันได้แก่ กลุ่มอาคารบ้านพักอาศัย และ กลุ่มอาคารศูนย์ฝึกอาชีพและบริการนักท่องเที่ยว  
                     
๑. กลุ่มบ้านพักอาศัย (ความเร่งด่วนระยะที่ ๑)  
                               
๑.๑ กลุ่มบ้านพักอาศัย ขนาดพื้นที่ใช้สอย ๘๐ ตร.ม. จำนวน ๓ กลุ่ม รวม ๖๐ ครัวเรือน  
                               
๑.๒ ลานและศาลาเอนกประสงค์ สำหรับชุมชน  
                     
 ๒. กลุ่มอาคารศูนย์ฝึกอาชีพและบริการนักท่องเที่ยว (ความเร่งด่วนระยะที่ ๒)  
                               
๒.๑ อาคารศูนย์ฝึกอบรมศิลปาชีพ  
                               
๒.๒ อาคารทรงงาน  
                               
๒.๓ อาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  
                               
๒.๔ อาคารเอนกประสงค์และศูนย์ประชุม
                               
๒.๕ อาคารต้อนรับนักท่องเที่ยว
                               
๒.๖ อาคารร้านขายของที่ระลึก และสำนักงานโครงการฯ
                               
๒.๗ อาคารบริการและร้านอาหาร
                               
๒.๘ อาคารศาลาพักผ่อน

             

                     กองทัพบก โดย กรมการทหารช่าง ได้มอบหมายให้ กองพันทหารช่างที่ ๕๑ สนับสนุนการปฏิบัติงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามโครงการชุมชนบ้านน้ำใส อันเนื่องมาจากพระดำริ องค์ประธานสถาบัน วิจัยจุฬาภรณ์ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ตั้งแต่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙ เป็นต้นมา โดยการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลืออพยพประชาชน จัดสร้างบ้านพักน็อคดาวน์ ห้องน้ำรวมและศูนย์เด็กเล็กชั่วคราว ในห้วง ๑ พฤษภาคม - ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ และได้เข้าปฏิบัติงานตาม ความเร่งด่วนระยะที่ ๑ ระยะเวลาดำเนินการ จำนวน ๒๑๐ วัน ร่วมกับคณะทำงาน กรมโยธาธิการ และผังเมือง จนถึงปัจจุบัน ผลงานโดยรวม ๖๑.๔๕ % ทั้งนี้ คณะทำงาน มีกำหนดกราบบังคมทูลเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ฝึกอบรมศิลปาชีพ ในปลายเดือนธันวาคม ๒๕๔๙ ที่จะถึง

                     ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ :
                     
๑. สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในด้านที่พักอาศัยและการฝึกอาชีพ ในเบื้องต้นเป็นจำนวน ๖๐ ครัวเรือน
                     
๒. ศูนย์ฝึกอาชีพ พัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนารูปแบบสินค้าผลผลิต และช่วยเหลือในด้านการบริหารการตลาดของกลุ่มอาชีพ และ สามารถพัฒนาโครงการเพื่อเป็นศูนย์ฝึกอาชีพในระดับพื้นที่อำเภอ หรือ จังหวัดได้ในอนาคต
                     
๓. เป็นสถานที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
                     
๔. เป็นรูปแบบตัวอย่างวิถีชีวิตของชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

 

 

ส่วนปฏิบัติการฯ ศทท.กช.
จัดทำ และเผยแพร่โดย  :  ส่วนปฏิบัติการฯ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลสารสนเทศ  กรมการทหารช่าง  ค่ายภาณุรังษี   อ.เมือง  จ.ราชบุรี  ๗๐๐๐๐
โทรศัพท์ ๐ - ๓๒๓๓ - ๒๕๒๒  , ทบ. ๕๓๑๐๕
       E-Mail ::  info@tahanchang.com , webmaster@tahanchang.com