กองพันทหารช่างที่ 111

 

 

ประวัติหน่วย
            กรมการทหารช่าง (กช.) ได้ริเริ่มเสนอโครงการขอจัดตั้งหน่วยทหารช่างก่อสร้างเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ โดยอาศัยจากดำริของผู้บังคับบัญชาชั้นสูง และคำแนะนำของที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐอเมริกา (JUSMAG) ซึ่งในสมัยนั้นมีอำนาจ และมีบทบาทต่อกองทัพบกไทยเป็นอย่างมาก หน่วยทหารช่างก่อสร้างที่กรมการทหารช่าง เสนอขอจัดตั้งมี ๒ หน่วย คือ กองพันทหารช่างก่อสร้าง ๑ กองพัน (อัตราการจัดและยุทโธปกรณ์ หมายเลข ๕-๑๑๕) และ กองร้อยทหารช่างรถยนต์บรรทุกเทท้าย อีก ๑ กองร้อย (อัตราการจัด และยุทโธปกรณ์ หมายเลข ๕-๑๒๔) โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้.-
                   - ตามแผนป้องกันประเทศ ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงตกลงใจให้มีหน่วยทหารช่างก่อสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการรบ และกิจการส่งกำลังบำรุง (การก่อสร้าง) พร้อมทั้งส่งเสริมงานพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล
                   - ที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐอเมริกา ได้เสนอแผนการช่วยเหลือยุทโธปกรณ์ และโครงการก่อสร้างอาคารระยะแรก สำหรับปฏิบัติงานให้กับหน่วยทหารช่างก่อสร้างของกองทัพบกไทย ไว้ในปีงบประมาณ 2511 และได้รับอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
                   - เพื่อมิให้สิ้นเปลืองงบประมาณของกองทัพบกเป็นจำนวนมากในปีเดียว จึงกำหนดโครงการจัดตั้งหน่วยได้เป็น ๓ ปีงบประมาณ โดยขอเริ่มการจัดตั้งหน่วยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นต้นไป ปรากฏว่า ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ได้พิจารณาเห็นความสำคัญ และประโยชน์ของหน่วยทหารช่างก่อสร้าง กองทัพบกจึงได้ออกคำสั่งจัดตั้ง กองพันทหารช่างก่อสร่างขึ้น ๑ กองพัน คือ กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ (ก่อสร้าง) ช.พัน.๑๑๑ เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๒ โดยเลียนแบบอย่างการจัดของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา แต่ปรับปรุงลักษณะการจัดและยุทโธปกรณ์ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับลักษณะของกองทัพบกไทย โดยถือเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพบก และฝากการบังคับบัญชาไว้กับหน่วยแม่ คือ กรมการทหารช่าง และในปี พ.ศ.๒๕๑๓ กองทัพบกก็ได้จัดตั้งหน่วยสนับสนุนให้อีก ๑ หน่วย คือ กองร้อยทหารช่างรถยนต์บรรทุกเทท้าย (ช.ร้อย.๑๔) เมื่อ ๑๕ เมษายน ๒๕๑๓
            หน่วย เหล่า และสายวิทยาการ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งหน่วยได้ให้การสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยทั้งสองเป็นอย่างดี รวมทั้งที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐอเมริกา จึงทำให้กองพันทหารช่างก่อสร้างหน่วยแรกของกองทัพไทย จัดตั้งขึ้นได้อย่างรวดเร็วตามแผนและโครงการของกองทัพบก จนสามารถรับปฏิบัติงานก่อสร้างตามโครงการของกองทัพบก ได้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๑๔ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และผลงานในด้านคุณภาพของการก่อสร้างการประหยัดงบประมาณและความรวดเร็ว เป็นที่ทราบกันทั่วไปทั้งในวงการทหาร และพลเรือนในนามของ ช.พัน.๑๑๑
            กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ ( ช.พัน.๑๑๑) ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ ๒๕ ก.ค.๑๒ ตามคำสั่ง ทบ. ที่ ๒๘๗/๒๕๑๒ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วยังไม่มีการปฏิบัติการใด ๆ ตามคำสั่งนี้ จนกระทั่ง กช. ได้ออกคำสั่งบรรจุกำลังพลงวดแรกให้กับหน่วย เมื่อ ๘ ส.ค.๑๒ และตั้งแต่บัดนั้นหน่วยจึงได้เริ่มดำเนินการฝึกและปฏิบัติตามภารกิจมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ฉะนั้นหน่วยจึงได้ยึดถือเอาวันที่ ๘ สิงหาคม ของทุก ๆ ปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยตลอดมา
            กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามโครงการจัดตั้งหน่วยใหม่ โดยวางโครงการเป็นระยะ ๓ งบประมาณคือ ปี ๒๕๑๒ , ๒๕๑๓ และ ๒๕๑๔ สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือการจัดตั้งในปีแรก โดยการจัดสร้างอาคารโรงทหารให้ ๒ โรง , โรงรถ ๒ โรง, โรงเลี้ยง ๑ โรง และลานจอดยานพาหนะและเครื่องมือช่างอีก๑ แห่ง ส่วนที่เหลือจะเป็นการก่อสร้างโดยใช้งบประมาณของ ทบ.ไทย ยุทโธปกรณ์ทั้งหมดตามอัตราของหน่วยในขั้นต้น ส่วนใหญ่ได้รับตามโครงการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐ อาจจะกล่าวได้ว่า ช.พัน.๑๑๑ เป็นหน่วยกองพันทหารช่างก่อสร้างหน่วยแรกที่สมบูรณ์ในกองทัพไทย โดยสรุปลำดับของการก่อตั้งหน่วยได้ดังนี้
            พ.ศ.๒๕๑๒    - กองทัพบก ออกคำสั่งจัดตั้ง กองพันทหารช่างก่อสร้าง (ช.พัน.๑๑๑) โดยใช้ อจย. หมายเลข ๕ – ๑๑๕ ที่ตั้งปกติ ตำบลเกาะพลับเพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และเป็นหน่วยขึ้นตรง ต่อ กองทัพบก
                   - กรมการทหารช่าง ออกคำสั่งบรรจุกำลังพลช่วยราชการในกองพันทหารช่างที่ ๑๑๑
                   - กองทัพบกออกคำสั่งบรรจุกำลังพลครั้งแรกให้กับ กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ (บก.พัน.,ร้อย.บก. ,ร้อย.ช.คม.และ ซบร. และร้อย.ช.ก่อสร้างที่ ๑)
            พ.ศ.๒๕๑๓   - กองทัพบก ออกคำสั่งตั้ง กองร้อยทหารช่างรถยนต์บรรทุกเทท้าย ( ช.ร้อย.๑๔ ) สนับสนุน กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ โดยใช้ อจย. หมายเลข ๕ – ๑๒๔ (๑๕ เม.ย. ๑๓)
                   - กองทัพบก ออกคำสั่งบรรจุกำลังพลให้กับ กองร้อยทหารช่างก่อสร้างที่ ๒
                   - กรมการทหารช่าง ออกคำสั่งบรรจุกำลังพลช่วยราชการใน กองร้อยทหารช่างรถยนต์บรรทุกเทท้าย
            พ.ศ.๒๔๑๔   - กระทรวงกลาโหม ออกคำสั่งบรรจุกำลังของ กองร้อยทหารช่างรถยนต์บรรทุกเทท้าย
                   - กองทัพบก ออกคำสั่งบรรจุกำลังพล กองร้อยทหารช่างก่อสร้างที่ ๓
            พ.ศ.๒๕๑๗ กองทัพบก ออกคำสั่งแก้ อจย. ๕ - ๑๑๕ (ช.พัน.๑๑๑) ปรับอัตรา ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ จาก พันโท เป็น พันเอก
            พ.ศ.๒๕๑๙ กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล
            พ.ศ.๒๕๒๐ กรมส่งกำลังบำรุง กองทัพบก อนุมัติหลักการแยกเครื่องมือก่อสร้างของ กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑
            พ.ศ.๒๕๒๑ กองทัพบก ออกคำสั่งจัดตั้ง กองร้อยทหารช่างสนับสนุนการก่อสร้าง (ช.ร้อย.๑๑๕) และบรรจุกำลังพล เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างของ กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑
            พ.ศ.๒๕๒๓ กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ ปรับการบังคับบัญชา พ้นจากการเป็นหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ กรมทหารช่างที่ ๑๑ จนถึงปัจจุบัน

ภารกิจของหน่วย
            - สร้างและฟื้นฟู ถนน สนามบิน ระบบทางท่อ โครงสร้าง และสาธารณูปโภค และช่วยการปฏิบัติการกู้ภัย
การแบ่งมอบ
            - จัดเป็นหน่วยของกองทัพบก (ปัจจุบัน ช.พัน.๑๑๑ เป็น หน่วยขึ้นตรง ช.๑๑)
ขีดความสามารถ
            - สร้าง หรือฟื้นฟูเส้นทางคมนาคม สะพาน สนามบิน และที่ขึ้นลงสำหรับเครื่องบินปีกหมุน
            - สร้างอาคาร โครงสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง
            - ทำพื้นผิวบิทูเมนได้อย่างจำกัด
            - ทำการก่อสร้างเพื่อป้องกันขนาดย่อม
การปฏิบัติงานที่สำคัญของหน่วย
            - สนับสนุนโครงการตามพระราชดำริ เช่น โครงการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนนใน กทม. เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร
            - สนับสนุนการก่อสร้างกองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
            - งานก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ทั้งใน ทบ. และนอก ทบ. เช่น การปรับปรุงซ่อมแซมถนนภายในหน่วยทหาร, การก่อสร้างทาง และสนามบิน, การก่อสร้างคลังน้ำมันต่าง ๆ เป็นต้น
            - การช่วยเหลือประชาชน ทั้งจากอุทกภัย และอัคคีภัย
            - งานก่อสร้างเส้นทางหมายเลข ๔๘ ประเทศกัมพูชา
เกียรติประวัติของหน่วย
            - กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ ได้รับพระราชทางธงชัยเฉลิมพล เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๙
            - สนับสนุนการก่อสร้างกองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
วันสถาปนาหน่วย วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๒

กองพันทหารช่างที่ 111

ตราสัญลักษณ์   กองพันทหารช่างที่ ๑๑๑ ได้ยึดถือเอาพญาวานร ชื่อ สุครีพ จากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เป็นสัญลักษณ์ของหน่วย โดยมีแนวความคิด จากการที่สุครีพเป็นหนึ่งในจำนวนผู้มีความรอบรู้หลักแหลมของฝ่ายกองทัพธรรม และเชี่ยวชาญในการก่อสร้างหลายสาขา การที่ใช้รูปสุครีพ กำลังเหาะ แสดงถึงขีดความสามารถในการเคลื่อนย้ายของหน่วย ส่วนอาวุธที่ถือในมือหมายถึงว่าหน่วยสามารถทำ การรบเพื่อป้องกันตนเองได้เมื่อจำเป็นในขณะปฏิบัติงาน

รายนามผู้บังคับหน่วยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
            ๑.พ.อ.ประยูร   พงษ์นิทรัพย์ ก.ย.๑๒ - เม.ย.๒๓
            ๒.พ.อ.ธงชัย   เชื้อสนิทอินทร์ เม.ย.๒๓ - ม.ค.๒๔
            ๓.พ.อ.ม.ล.เถลิงลาภ   ทวีวงศ์ ม.ค.๒๔ - เม.ย.๒๔
            ๔.พ.อ.คมกฤช   ศรียะพันธ์ เม.ย.๒๔ - ก.พ.๒๕
            ๕.พ.อ.ณรงค์   มหาคุณ ก.พ.๒๕ - ต.ค.๒๖
            ๖.พ.อ.อำนาจ   มีกลิ่นหอม ต.ค.๒๖ - ม.ค.๒๘
            ๗.พ.อ.บุญเลิศ   ประทุมรัตน์ ม.ค.๒๘ - ต.ค.๓๐
            ๘.พ.อ.สุชิน   บุญรอด ต.ค.๓๐ - ม.ค.๓๒
            ๙.พ.อ.นเรศ   นิตยสุทธิ์ ม.ค.๓๒ - ก.ค.๓๔
            ๑๐.พ.อ.ทวนชัย   พันธ์เพิ่มศิริ ก.ค.๓๔ - ก.พ.๓๖
            ๑๑.พ.อ.ประวิทย์   ภักดีอาษา ก.พ.๓๖ - ก.ค.๓๘
            ๑๒.พ.อ.คณิต   แจ่มจันทรา ก.ค.๓๘ - ม.ค.๔๑
            ๑๓.พ.อ.กิติกร  ธรรมนิยาย ม.ค.๔๑ - มิ.ย.๔๔
            ๑๔.พ.อ.อนุสรณ์   ปัญญะบูรณ์ มิ.ย.๔๔ - ส.ค.๔๗
            ๑๕.พ.อ.สมชาติ   ศิลป์เจริญ ส.ค.๔๗
-
            ๑๖.พ.อ.พิจิตร    บุญญสุวรรณ

     
     
 

ส่วนปฏิบัติการฯ ศทท.กช.
จัดทำ และเผยแพร่โดย  :  ส่วนปฏิบัติการฯ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลสารสนเทศ  กรมการทหารช่าง  ค่ายภาณุรังษี   อ.เมือง  จ.ราชบุรี  ๗๐๐๐๐
โทรศัพท์ ๐ - ๓๒๓๓ - ๒๕๒๒  , ทบ. ๕๓๑๐๕
       E-Mail ::  info@tahanchang.com , webmaster@tahanchang.com