กำเนิดและที่ตั้ง

                ยุคสมัยที่เมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ทั้งพม่าและกรุงศรีอยุธยา หมายยึดครองเป็นทางผ่านในการกรีฑาทัพไปรบกันทั้งพม่าและกรุงศรีอยุธยาผลัดกันยึดครองมาโดยตลอดจากยุคสมัยอันเกรียงไกร “บุเรงนอง” ที่เข้ายึดเชียงใหม่ได้ครั้งแรกเมื่อ
                พ.ศ.๒๑๐๑ แล้วอีก ๑๐๓ ปี ต่อมา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ยึดคืนเมื่อ พ.ศ.๒๒๐๔ ครั้น พ.ศ. ๒๒๑๕ พระยาพุกาม ก็กรีฑาทัพกลับไปอีกและถูกกดขี่ข่มเหงเรื่อยมาจนถึง                 พ.ศ.๒๒๕๐ชาวเมืองจึงไม่มีแก่ใจทำมาหากินเพราะได้มาเท่าไรก็มีคนมาเอาไปหมดโรคภัยไข้เจ็บก็คุกคามเดือดร้อนกันทั่วทุกหย่อมหญ้าและแค้นใจ เหนือสิ่งใดก็คือ เหลียวมองไปทางไหน ไม่มีสัญลักษณ์ของความเป็นไทยให้เห็นเลยมีแต่ “ เสาหงส์ ” อันเป็นเครื่องบ่งชี้ของพม่าและมอญไม่ว่าจะเป็นที่ เชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง มีแต่ “ เสาหงส์ ” และรูปสิงห์ ให้บาดตาตรึงใจไปหมด สุดที่คนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นจะทนดูดายต่อไปได้จึงร่วมแรงร่วมใจคบคิดช่วงชิงเมืองมาให้ได้

                

                ต่อมา พ.ศ.๒๒๗๐“ เทพสิงห์ ” หนุ่มน้อยแห่งเมืองยวมใต้ (อ.แม่สะเรียง ในปัจจุบัน)รวบรวมสมัครพรรคพวกได้แต่จำนวนร้อย
ตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ สามารถขับไล่กองกำลังอันเกรียงไกรอย่างห้าวหาญ เข่นฆ่าล้างผลาญ แทบไม่หลงเหลือ จับตัว “ โป่มังแรนร่า ” นายทัพใหญ่ของพม่านั่งบัลลังก์ครองเมืองเชียงใหม่ มาสำเร็จโทษ ที่เหลือก็กระเจิดกระเจิงไปรวมกับพวกพม่าที่ยึดครองเมืองเชียงแสน
                “ เทพสิงห์ ” ก้าวขึ้นรักษาเมืองเชียงใหม่ โดยยังคงให้ขุนนางผู้ใหญ่ที่เป็นคนไทย ( แต่ดำรงตำแหน่งขณะพม่ายึดครองนั้น) ยังคงดำรงตำแหน่งเดิมโดยหาเฉลียวใจไม่ว่า ในจำนวนนั้นมี“ คนไทยใจทาส ” ปะปนอยู่ด้วยคือ “ พญาวังหางตั๋น ” คนไทยใจพม่าที่ล้วงความลับฝ่ายใน แล้วนำไปวางแผนคบคิดกับฝ่ายพม่าในหัวเมือง อื่น ๆ รวบรวมพลได้ ๔๐๐ คน เข้าปล้นเชียงใหม่ ในยามราตรี “เทพสิงห์” ไม่ได้ระวัง“หอกข้างแคร่” จึงเสียทีต้องหนีกระเจิดกระเจิงไปอย่างบอบช้ำที่สุด พญาวังหางตั๋น จึงไปกราบทูลความดีความชอบของตนเอาเมืองเชียงใหม่ให้ “พระเจ้าอังวะ” ถึงประเทศพม่าไม่ผิดอะไรกับ “พระยาจักสี ” ที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาล่ม
                “เทพสิงห์ ” เห็นเหลือกำลังที่จะคืนชิงมาได้ โดยลำพังจึงไปหารือกับ “เจ้าธรรมปัญโญ” เจ้านครน่าน เจ้าธรรมปัญโญ เห็นเป็นคนไทยด้วยกัน ประกอบกับความมุ่งหมายและผลงานที่“เทพสิงห์” ชิงเมืองมาได้ตั้งหลายครั้งทั้งๆ ที่มีกำลังพลน้อยนิด จึงยกกำลังมาสมทบ แต่ความลับรั่วถึงหูของ “เจ้าองค์ดำ” คนต่างด้าวท้าวต่างเมืองที่ครอง เชียงใหม่ ขณะนั้น จึงกรีฑาทัพออกไปดักซุ่มโจมตีที่ เวียงป่าซาง “เจ้าธรรมปัญโญ” ต้องอาวุธในสนามรบ กองกำลังนครน่าน จึงเสียขวัญเตลิดไป ทำให้ “เทพสิงห์ ” ต้านกำลังโดยลำพังไม่ไหว ต้องแตกกระเจิงและหายสาบสูญไป สันนิษฐานว่าคงเสียชีวิตแล้ว เพราะหาไม่แล้ว ก็ต้องยกทัพกลับเข้ามาอีก เป็นที่รู้กันดีว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่ แล้วไม่กลับมาสู้ ก็ไม่ใช่ “ เทพสิงห์ ”
                จากวีรกรรมของ “เทพสิงห์” ซึ่งถือว่าเป็นวีระบุรุษเมืองยวมใต้ ที่กล่าวข้างต้น พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ ๙ องค์ปัจจุบัน ได้พระราชทานนาม “ เทพสิงห์ ” เป็นชื่อ ค่ายเทพสิงห์

                

                เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่หนุ่มเทพสิงห์ผู้กล้าแห่งเมืองยวมใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยของกองพันทหารราบที่๔ กรมทหารราบที่ ๗ เมื่อ ๕ มิ.ย.๒๕๒๘ โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ บ.ห้วยหลวงหมู่ที่ ๖ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กองพันทหารราบที่ ๔ กรมทหารราบที่ ๗ เป็นกองพันทหารราบเบาจัดตั้งตาม คำสั่ง ทบ.(เฉพาะ) ลับที่ ๘๗/๒๕ เรื่องการจัดตั้งกองพันทหารราบเบา ลง ๒๖ เม.ย.๒๕ โดยมี พ.ท.สมบูรณ์ เอี่ยมโอภาส เป็นผู้บังคับกองพัน เดิมมีที่ตั้งชั่วคราวในค่ายสุรศักดิ์มนตรี อ.เมือง จ.ลำปาง โดยเมื่อ ๑๙ - ๒๙ เม.ย.๒๘ ได้เคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้งปกติถาวร บ.ห้วยหลวง หมู่ที่ ๖ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ด้วยการเดินเท้าประกอบการฝึกยุทธวิธี นับเป็นเกียรติประวัติสำคัญ ศูนย์การทหารราบ จึงได้มอบเครื่องหมายทหารราบให้ในฐานะที่เป็นหน่วยทหารราบดีเด่น ที่ได้สร้างคุณประโยชน์กองทัพบก และประเทศชาติ ทุกภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ต่อมาเมื่อ ๒๐ พ.ย.๒๘ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก กระทำพิธีเปิดอาคารถาวร ให้กับหน่วย กองพันทหารราบที่ ๔ กรมทหารราบที่ ๗  ส่วน กรมทหารพรานที่ ๓๖ ในขณะนั้น ให้ เคลื่อนย้าย กรมทหารพรานที่ ๓๖ ซึ่งมีที่ตั้ง บ.โป่งดอยช้าง หมู่ที่ ๑๓ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เข้าที่ตั้งชั่วคราว ค่ายเทพสิงห์ บ.ห้วยหลวง หมู่ที่ ๖ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อดูแลรักษา อาคารสถานที่ ตั้งแต่ ๙ ม.ค.๓๙ ถึง ปัจจุบัน