เนื่องด้วย พลโท ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง/ผู้บังคับค่ายพัก ค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๑ อนุมัติให้แยกอำนาจผู้บังคับค่ายพักสำหรับค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๑ และส่วนที่ ๒ ออกจากกันเพื่อให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชาสั่งการ รวมถึงความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ ผู้บัญชาการกองพลทหารช่าง/รองผู้บัญชาการค่ายพัก ค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ ในการสั่งการ ออกระเบียบ คำสั่งอื่นใดเกี่ยวกับค่ายพักเพิ่มเติมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับคำสั่ง หรือระเบียบของ กรมการทหารช่าง ที่ใช้มีผลบังคับใช้อยู่ และให้ กองพลทหารช่าง ดำเนินการขอพระราชทานนามค่ายขึ้นใหม่ (ตามหนังสือ กกพ.กช. ที่ กห ๐๔๔๑.๑/๘๒๗ ลง ๑๕ ก.ย.๔๗) - การนำเอานามบุคคลสำคัญมาตั้งเป็นนามค่ายทหาร นั้น เจ้าของชื่อควรเป็นผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและในด้านการทหารมามาก
                                 - บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความยกย่องนับถือของทหาร และประชาชนในท้องถิ่นอย่างแน่นแฟ้น
                                 - เป็นผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ยกเว้นผู้ที่อยู่ในพระบรมวงศานุวงศ์
                                 - การนำชื่อบุคคลมาตั้งเป็นนามค่ายทหาร นั้น โดยหลักการทางประวัติศาสตร์ควรจะต้องรอไปสักระยะหนึ่งจนเห็นว่าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงแล้ว
                                 - การนำพระนามหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ต้องได้รับอนุญาต
                                 - นามค่ายทหารที่จะดำเนินการขอพระราชทานนั้นต้องไม่ซ้ำซ้อนกับค่ายทหารของหน่วยที่ได้รับพระราชทานนามค่ายทหารมาแล้ว
                            กองพลทหารช่าง จึงได้หารือกับผู้บังคับหน่วยใน กองพลทหารช่าง, หน่วยขึ้นตรง กองพลทหารช่าง และหน่วยในพื้นที่ค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๒ ในการตั้งนามค่ายให้มีความเหมาะสม ซึ่งผู้บังคับหน่วยดังกล่าวเห็นพ้องต้องกันว่าพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระนามเดิม พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร) ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่ทำคุณประโยชน์ไว้กับเหล่าทหารช่างอย่างนานัปการ จนได้ชื่อว่าเป็นพระบิดาของเหล่าทหารช่าง กอปรกับบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ท่านอื่น เช่น กรณี พระยาปราบ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในท้องถิ่นรวมถึงกำลังพลและครอบครัวในค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๒ ยังไม่สามารถค้นคว้าหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนในการนำประวัติมาประกอบการพิจารณาขอตั้งเป็นนามค่ายทหารได้ จึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรนำพระนามเดิมของ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร) มาตั้งเป็นนามค่ายของกองพลทหารช่างและหน่วยในพื้นที่ค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๒ ว่า “ ค่ายบุรฉัตร ”
                            ดังนั้น กองพลทหารช่าง จึงทำหนังสือขออนุญาตในการนำพระนาม “ บุรฉัตร ” มาดำเนินการขอพระราชทานนามค่ายทหารของ กองพลทหารช่าง จากราชตระกูลฉัตรไชย ด้วย ซึ่ง ฝกพ.พล.ช. ได้มีหนังสือเรียนปรึกษา หม่อมราชวงศ์ พร้อมฉัตร สวัสดิวัตน์ และ หม่อมราชวงศ์ พร้อมฉัตร สวัสดิวัตน์ ได้เรียนถามผ่าน หม่อมราชวงศ์ รมณียฉัตร แก้วกิริยา ซึ่งเป็นธิดาของหม่อมเจ้า ภัทรลดา ดิศกุล พระขนิษฐาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ฯ ทั้งนี้ หม่อมเจ้า ภัทรลดา ฯ มิทรงขัดข้องในการที่ กองพลทหารช่าง ขออนุญาตใช้พระนาม “ บุรฉัตร ” ซึ่งเป็นพระนามของ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของเหล่าทหารช่าง นำมาตั้งเป็นนามค่ายทหารของ กองพลทหารช่าง และหน่วยได้ดำเนินการขอพระราชทานนาม ค่ายทหารดังกล่าวตามสายการบังคับบัญชา โดยกองทัพบกได้รายงานขอพระราชทานนามค่ายทหารของ กองพลทหารช่าง ซึ่งมีที่ตั้งปกติถาวร ณ ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ว่า “ ค่ายบุรฉัตร ” ทั้งนี้ สำนักราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูล พระกรุณาทราบ ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามค่ายทหารของ กองพลทหารช่าง ว่า “ ค่ายบุรฉัตร ” ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลง ๒๔ มกราคม ๒๕๔๙

 

 
 
  
กรมการทหารช่าง          ค่ายภาณุรังษี
ต.โคกหม้อ  อ.เมือง  จ.ราชบุรี  70000
จัดทำ/เผยแพร่โดย ส่วนปฏิบัติการระบบเครือข่ายฯ  ศทท.กช.
webmaster  ::  kittikraimanee@gmail.com   ทบ. 53105