กรมการทหารช่าง :: การปฏิบัติของกำลังพลที่เกี่ยวข้องกับพิธีสงฆ์และงานพิธีต่าง ๆ

ประกาศกองทัพบก
เรื่อง การปฏิบัติของกำลังพลที่เกี่ยวข้องกับพิธีสงฆ์และงานพิธีต่าง ๆ
-------------------------

            เพื่อให้กำลังพลในสังกัดกองทัพบกที่ไปร่วมในงานพิธีต่าง ๆ ปฏิบัติตนที่เกี่ยวกับพิธีสงฆ์ เช่น การกราบพระในพิธีต่าง ๆ โอกาสในการประนพมือและไม่ประนมมือ รวมทั้งการถือกระบี่และหมวกในแต่ละโอกาสและการนั่งไหว้พระในพิธีสงฆ์โอยมีกระบี่ ถุงมือ และหมวกประกอบ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นแนวทางเดียวกัน จึงให้กำลังพลถือปฏิบัติตามหนังสือการปฏิบัติของประธานและผู้เข้าร่วมพิธีในพิธีต่าง ๆ และระเบียบปฏิบัติราชการบางเรื่อง พ.ศ.๒๕๓๘ และคู่มือการฝึกว่าด้วยการฝึกการใช้กระบี่สำหรับนายทหาร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งได้แจกจ่ายให้หน่วยต่าง ๆ ได้ทราบ และถือปฏิบัติไปแล้ว และขอชี้แจง เพิ่มเติมในเรื่องที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้

        ๑. การปฏิบัติเกี่ยวกับพิธีสงฆ์ ให้กำลังพลปฏิบัติ ดังนี้

            ๑.๑ การจุดเทียนธูป จุดเทียนก่อนแล้วจุดธูปเป็นลำดับถัดไป โดยจุดเทียนเล่มซ้ายมือของผู้จุด และเล่มขวามือตามลำดับ ต่อจากนั้นจุดธูปดอกซ้ายมือของผู้จุดไปทางขวามือตามลำดับ

            ๑.๒ การเคารพธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ ในพิธีสำคัญ ๆ นิยมตั้งธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ข้างที่บูชา เมื่อกราบพระพุทธปฏิมา ณ ที่บูชาแล้ว ให้ลุกยืนหันไปแสดงการเคารพธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ ตามลำดับ

            ๑.๓ การกราบ การกราบ ณ ที่บูชา หรือกราบพระสงฆ์ ควรกราบให้นับได้ว่าเป็นการกราบ ๓ ครั้ง การกราบที่หมอบลงครั้งเดียวแล้วใช้มือที่ประนมแบราบ ๆ จนครบ ๓ ครั้ง และปฏิบัติเช่นนั้นอย่างเร็ว ไม่แสดงให้เห็นชัดว่าเป็นการกราบ ๓ ครั้ง เป็นการแสดงความรีบร้อนเกินไป ไม่แสดงถึงการกราบที่มีความตั้งใจและศรัทธา ถือว่าเป็นการกราบที่ไม่ถูกต้อง

            ๑.๔ การประนมมือ ให้กำลังพลประนมมือในกรณีต่อไปนี้

                    ๑.๔.๑ ในพิธีปิด – เปิดการศึกษา พิธีประดับยศ ผู้อยู่ในพิธีประนมมือเมื่อประธานเริ่มจุดเทียนเรื่อยไปจนถึงประธาน ฯ กราบเสร็จ และลดมือลงเมื่อประธาน ฯ ลุกยืนเพื่อแสดงการเคารพธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์

                    ๑.๔.๒ กรณีรับศีล ประนมมือเมื่อพิธีกร ฯ เริ่มอาราธนาศีล (มะยัง ภันเต…….) จนถึง พระสงฆ์ให้ศีลจบและบอกอานิสงฆ์ของศีล จบลงด้วยคำว่า “ตัสมา สีล’ วิโสธเย” จึงลดมือลง

                    ๑.๔.๓ กรณีฟังการเจริญพระพุทธมนต์ และสวดพระพุทธมนต์ ประนมมือเมื่อพิธีกร ฯ เริ่มอาราธนาพระปริตร (วิปัตติปฏิพาหายะ……) จนถึงพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดมนต์จน จึงลดมือลง

                    ๑.๔.๔ กรณีพระสงฆ์แสดงธรรม (ฟังเทศน์) ประนมมือเมื่อพิธีกรเริ่มอาราธนาธรรม (พรมา จะ โลกา ……) จนถึงพระสงฆ์แสดงธรรมจบ จึงลดมือลง

                    ๑.๔.๕ กรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีผู้แทนพระองค์ ผู้อยู่ในพิธีประนมมือได้ทุกกรณี ตามข้อ ๑.๔.๑ – ๑.๔.๔

                    ๑.๔.๖ กรณีฟังพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ผู้อยู่ในพิธีเริ่มประนมมือเมื่อพิธีกรเริ่มอาราธนาศีล และประนมมือทุกครั้งเมื่อพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมแต่ละจบ เมื่อพระสงฆ์สวดจบทุกครั้งก็ลดมือลง

                    ๑.๔.๗ กรณีพูด และสนทนากับพระเถระผู้ใหญ่ ตามประเพณีของชาวพุทธ ผู้เป็นคฤหัสถ์ ต้องประนมมือทุกครั้ง

                    ๑.๔.๘ กรณีเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช เมื่อกราบทูล เมื่อขณะสนทนา เมื่อกล่าว รับ เช่น ตอบคำถาม เมื่อพระองค์ประทานพร เมื่อพระองค์ประทานน้ำพระพุทธมนต์ ให้ประนมมือทุกครั้ง

                    ๑.๔.๙ ถวายผ้าป่า ผ้ากฐิน เมื่อรับศีล ฟังเทศน์ ฟังพระสงฆ์สวดบท นะโม ผู้อยู่ในพิธีประนมมือได้ทุกตอน

                    ๑.๔.๑๐ การกรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์ขึ้นบทอนุโมทนาว่า “ยถา วาริวหา” ประธานในพิธี หรือเจ้าภาพเริ่มกรวดน้ำทันที ให้ผู้อยู่ในพิธีประนมมือด้วย เมื่อพระสงฆ์สวดจบบทถึงวรรคสุดท้ายที่ว่า “มณิโชติรโส ยถา” ให้ประธานเทน้ำให้หมดภาชนะ แล้วนั่งประนมมือฟังพระสงฆ์ให้พรต่อไป จบแล้ว กราบ ๓ หน ผู้อยู่ในพิธีจึงเอามือลงได้

                ๑.๔.๑๑ การสวดพระอภิธรรม เมื่อประธานในพิธีหรือเจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย ให้กำลังพลประนมมือ และประธานกลับมานั่งที่เดิม พิธีกรจะอาราธนาศีล ให้ประธานและผู้เข้าร่วมพิธีประนมมือ พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมจบ ฝ่ายเจ้าภาพกันถวายไทยธรรม (ถ้ามี) พิธีกรลาดผ้าภูษาโยงหรือด้ายสายสิญจน์ และเชิญประธานทอดผ้าบังสุกุลเสร็จกลับมานั่งที่เดิม (กำลังพลไม่ต้องประนมมือ) ขณะที่พระสงฆ์ซักผ้าบังสุกุลและกล่าวคำว่า “อนิจจา วัตตะ สังขารา…..” ประธานและผู้อยู่ในพิธีประนมมือด้วย เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา (ยถา วาริวหา ……) ให้ประธานกรวดน้ำแล้วประนมมือรับพรต่อไปจนจบ (ผู้ร่วมพิธีประนมมือ) ประธานจึงกราบลาพระรัตนตรัยที่โต๊ะบูชา

                ๑.๔.๑๒ ในงานฌาปนกิจทั่วไป เมื่อเจ้าภาพเชิญประธานในพิธีขึ้นทอดผ้าบังสุกุล ก่อนการประกอบพิธีประชุมเพลิง ให้ประธานลุกเดินไปข้างหน้าผู้เชิญ เมื่อถึงเมรุแล้วทำความเคารพตามประเพณีนิยม รับผ้าบังสุกุลแล้ววางทอดไว้ ณ ภาชนะที่รองรับ (ถ้าไม่มีที่รองรับก็วางบนหีบศพ) เมื่อพระสงฆ์ขึ้นไปบนเมรุ ให้ประธานน้อมตัวลงยกมือไหว้ ขณะที่พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล ประธานถึงประนมมือ และขณะที่พระสงฆ์ลงจากเมรุ ให้ประธานน้อมตัวลงยกมือไว้อีกครั้งหนึ่งแล้วลงจากเมรุ ขณะนั้นกำลังพลไม่ต้องประนมมือ กรณีถ้าเป็นประธานในพิธีและทอดผ้าบังสุกุลเป็นคนสุดท้าย เมื่อทำความเคารพพระสงฆ์ครั้งสุดท้ายแล้ว ให้เริ่มประกอบพิธีประชุมเพลิงต่อไป

                ๑.๔.๑๓ ในงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อเจ้าภาพเชิญผู้เป็นประธานในการพระราชทานเพลิงศพขึ้นเมรุเพื่อจะทอดผ้าบังสุกุล (ผ้าไตรผืนสุดท้าย) ประธานในพิธีจะทอดผ้ามหาบังสุกุล ถ้าเป็นผ้าไตรของหลวงพระราชทานต้องใช้พักยศ พระสงฆ์ชักผ้ามหาบังสกุลแล้วลงจากเมรุ ประธานประนมมือแต่ผู้เดียว จากนั้นประธานในพิธีหันหน้าไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ถวายคำนับ และหยิบกระทงข้าวตอก กระทงดอกไม้จากพนักงานพระราชพิธีวางที่ฐานฟืนหน้าหีบศพแล้วหยิบดอกไม้จันทร์จากพนักงานพระราชพิธี จุดเพลิงพระราชทานจากโคมไฟที่เจ้าพนักงานพระราชพิธีถือเชิญไปสอดวางลงในใต้พื้นรองศพ แล้วลงจากเมรุ

            ๑.๕ ห้ามข้าราชการทหารประนมมือ ในโอกาสต่อไปนี้

                    ๑.๕.๑ ในงานพระราชพิธีหรืองานบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นประธานในพิธี เมื่อพระสงฆ์ (องค์ประธานองค์เดียว) ถวายอดิเรก (ถวายพระพร) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งขึ้นต้นด้วยข้อความว่า “อติเรกะวัสสะสะตัง ชีวะตุ..” และจบลงด้วยข้อความว่า “…..ภะวะตุสัพพทา ขอถวายพระพร” ผู้อยู่ในพิธีไม่ต้องประนมมือ (เมื่อถวายอติเรกจบแล้ว พระสงฆ์สวดบท ภะวะตุสัพพะมงคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา ….. ผู้อยู่ในพิธีประนมมือได้อีกตามเดิม)

                    ๑.๕.๒ เมื่อพิธีสงฆ์จบแล้ว พระสงฆ์องค์ประธานจะถวายพระพรลา “ขอถวายพระพรเจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการจงมีแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภาร องค์สมเด็จพระปรมินทรธัมมิกมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเวลานี้สมควรแล้ว อาตมาภาพทั้งปวงขอถวายพระพรลา แด่สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภาร พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐขอถวายพระพร” ขณะที่พระสงฆ์กล่าวข้อความถวายพระพรลาทั้งหมดนี้ ผู้อยู่ในพิธีไม่ต้องประนมมือ

        ๒. การถือกระบี่ และหมวกในโอกาสนั่งบนที่นั่ง และการนั่งไหว้พระในพิธีสงฆ์ เมื่อแต่งเครื่องแบบปกติขาวในโอกาสนั่งบนที่นั่ง และไหว้พระในพิธีสงฆ์ ให้กำลังพลปฏิบัติตามคู่มือการฝึกว่าด้วย แบบฝึกการใช้กระบี่สำหรับนายทหาร พ.ศ.๒๕๓๔

        ๓. การปฏิบัติในพิธีประดับเครื่องหมายยศให้แก่นายทหารสัญญาบัตร ประธานในพิธีและผู้เข้าร่วมพิธี รวมทั้งผู้ได้รับการประดับเครื่องหมายยศ แต่งกายเครื่องแบบปกติขาว คาดกระบี่ มีถุงมือ ปฏิบัติดังนี้

            ๓.๑ เมื่อประธานในพิธีมาถึงบริเวณพิธีจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยและกราบพระ ผู้เข้าร่วมพิธีและผู้รับการประดับยศ ให้ปล่อยกระบี่ลงข้างตัว ประนมมือพร้อมกัน โดยให้ปลายนิ้วถึงมือสอดอยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้มือซ้าย และลดมือลงเมื่อประธานกราบเสร็จ

            ๓.๒ เมื่อจะกระทำพิธีประดับเครื่องหมายยศให้แก่นายทหารผู้ได้รับพระราชทายยศสูงขึ้น ให้นำสายโลหะมาเกี่ยวที่ห่วงกระบี่ ปล่อยกระบี่ลงข้างตัว ถือถุงมือไว้ด้วยมือซ้าย โดยใช้นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อย กำถุงมือให้ปลายนิ้วถุงมือห้อยลงล่าง

                                                 ประกาศ         ณ         วันที่     ๒๒     ธันวาคม   พ.ศ. ๒๕๔๑

                                                                                (ลงชื่อ ) พลเอก เรวัต   บุญทับ

                                                                                                      ( เรวัต   บุญทับ )

                                                                                      ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ทำการแทน

                                                                                                 ผู้บัญชาการทหารบก

กรมกำลังพลทหารบก